หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะแก้อารมณ์เบื่อหน่าย...บทที่ 7


ทำไมอารมณ์ของคนเราจึงหวั่นไหว


ถาม: ทำไมอารมณ์ของคนเรามันหวั่นไหวเยอะคะ ?

ตอบ: ก็ธรรมดา เพราะขาดการฝึกฝนมา ต้องอาศัยการฝึกฝน ยิ่งทำบทเรียนมากเท่าไรก็ยิ่งมีความคล่องในการเรียนมากเท่านั้น สภาพของเราก็เหมือนกันถ้าหากว่ามีการฝึกฝน พยายามดิ้นรนในลักษณะที่เรียกว่า ฝืนๆ ในสิ่งที่เป็นกระแสโลก พูดง่ายๆ ก็คือ ฝืนในเรื่องของกิเลส มันจะรักเราก็อย่ารักมัน มันจะโลภเราก็อย่าโลภกับมัน มันจะโกรธเราก็อย่าโกรธกับมัน มันจะหลงเราก็อย่าหลงกับมัน พอเราฝืนไปนานๆ จะกลายเป็นความเคยชิน กำลังมันเพียงพอ เรื่องที่เคยหนักก็เบา แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่ต้องฝืน เพราะเห็นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง สภาพแท้จริงเป็นอย่างไร จากที่แบกก็เริ่มปล่อย ปล่อยเมื่อไหร่มันก็หนักน้อยลง

ถาม: เริ่มจากอาการเบื่อใช่ไหมคะ ?

ตอบ: ตัวเบื่อไม่ใช่ตัวเริ่ม ตัวเบื่อเป็นปลาย ถ้าถึงตรงเบื่อเมื่อไหร่ แสดงว่าเข้าถึงความดีแล้ว พยายามรักษาความดีนั้นเอาไว้ เบื่อสุดๆ ก็ให้มันเบื่อไป พิจารณาให้เห็นว่าแม้แต่ตัวเราที่ตั้งใจปฏิบัติที่จะไปนิพพานยังต้องการทุกข์ทนขนาดนั้น เพราะว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ เศร้าเป็นทุกข์ เสียใจเป็นทุกข์ ร่ำไห้คร่ำครวญเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจเป็นทุกข์ ได้ของที่ไม่รักเป็นทุกข์ จากของที่รักเป็นทุกข์

ทุกอย่างมีแต่ทุกข์ทั้งหมด กระทั่งอารมณ์ใจที่เบื่อโลกอยู่ตอนนี้มันก็ทุกข์ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีทุกข์ อย่างนี้ต้องการอีกไหม รวบท้ายเข้ามา ในเมื่อเราไม่ต้องการ ไปนิพพานดีกว่า ทนอยู่กับมันชาตินี้ชาติเดียว การที่เราอยู่กับมันชาตินี้ชาติเดียว เปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดนับกัปไม่ถ้วน มันแป๊บเดียวเอง ในเมื่อมันแป๊บเดียวจะอยู่กับมันอย่างมีความสุขไม่ได้ ให้เห็นว่าธรรมดาของการเกิดเป็นอย่างนี้เอง จะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเอ็ง ข้าจะไปนิพพานก็แล้วกัน

วันก่อนสอนพระ ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ยามต้น-ท่านได้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติได้) พอยามสอง-ท่านก็ได้ จุตูปปาตญาณ (รู้ว่าคนและสัตว์มาจากไหน ตายแล้วไปไหน) ยามสุดท้าย-ท่านได้อาสวักขยญาณ (ทำกิเลสให้สิ้นไป) ตกลงพระพุทธเจ้าบรรลุด้วยวิชชาสามแต่กำลังของท่านคลุมทั้งอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณหมด

เคยมีคนถามหลวงพ่อว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อบอก วิชชา ๓ ของช้างต้องต่างกับอภิญญาของมด กำลังห่างกันขนาดนั้น คราวนี้โบราณเขาแบ่งคืนหนึ่งมี ๔ ยาม ได้แก่ ยามต้น-ปฐมยาม(หกโมงเย็นถึงสามทุ่ม) ยามสอง (สามทุ่มถึงเที่ยงคืน) ยามสาม (เที่ยงคืนถึงตีสาม) ยามสุดท้าย (ตีสามถึงหกโมงเช้า) ๔ ชั่วยาม

ยามต้น (หกโมงถึงสามทุ่ม) บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติไปเป็นแสนกัลป์) ยามสอง (สามทุ่มถึงเที่ยงคืน) บรรลุจตูปปาตญาณ (สามชั่วโมง) ยามสุดท้าย (หกชั่วโมงเต็มๆ) บรรลุอาสวักขยญาณ



สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ 
เดือนกันยายน ๒๕๔๕ 
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น