ความเบื่อ
ตอบ : เป็นนิวรณ์ จัดอยู่ในส่วนของถีนมิทธนิวรณ์ ชวนให้เบื่อ ชวนให้ง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจ ก็จัดเป็นกิเลส กิเลสหยาบมากด้วย เห็นหน้าตาชัดเจนที่สุดด้วย
ถาม : แรก ๆ ก็พยายามเปลี่ยนอิริยาบถแล้ว ทั้ง นั่ง ยืน เดิน นอน แต่ว่าก็เบื่อบรรยากาศในห้อง บางทีเก็บตัวอยู่ในห้องหลาย ๆ วัน ตรงนั้นเราจะต้องแก้ไขอย่างไร ?
ตอบ : ไม่ต้องแก้ไข เลิกสนใจความเบื่อ แล้วอยู่กับการภาวนาอย่างเดียว อารมณ์เบื่อเกิดขึ้น แสดงว่าคุณหลุดจากการภาวนา
ถ้าไม่หลุด..ก็จะสดชื่น เบาสบายอยู่อย่างนั้น กี่ปีกี่ชาติก็อยู่อย่างนั้น แสดงว่าเราประคองรักษาอารมณ์ไม่อยู่ ประเภทเลิกแล้วก็เลิกเลย ไม่เคยรักษาอารมณ์นั้นไว้ ทำให้กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ แทรกเข้ามาสิงได้ง่าย ๆ นี่เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของเราเลย ฉะนั้น...ต้องกลับไปแก้ไขตรงจุดนี้ให้ได้ ว่าทำอย่างไรแล้วจะทำให้เรารักษาอารมณ์นั้นอยู่ได้ด้วย
ถาม : บางทีสังเกตดู บางทีเกิดอารมณ์เบื่อจากความอยากด้วย พอตั้งท่าจะทำ
ตอบ : ก็เพราะไม่ได้อย่างที่อยาก
ถาม : ก็เลยเบื่อ
ตอบ : นั่นมันหลอกเราสองชั้นเลย
ถาม : แต่ถ้าเบื่อแบบนิพพิทาญาณจะไม่ท้อถอยในการปฏิบัติ ?
ตอบ : ไม่ท้อถอยหรอก แต่จะเซ็งในอารมณ์ จนทำอะไรไม่ถูกไปเลย จนกว่าปัญญาจะมาทัน ถ้าหากปัญญามาทันคราวนี้ก็จะเห็นว่า แม้บุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นก็ยังทุกข์เห็นปานนี้ ขึ้นชื่อว่าบุคคลอื่นที่ไม่ทุกข์ จะหาที่ไหนได้เล่า ?
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ถาม-ตอบ ช่วงเย็น ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๓
>>>> อ่านต่อตอนที่ 3
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น