หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะแก้อารมณ์เบื่อหน่าย...บทที่ 7


ทำไมอารมณ์ของคนเราจึงหวั่นไหว


ถาม: ทำไมอารมณ์ของคนเรามันหวั่นไหวเยอะคะ ?

ตอบ: ก็ธรรมดา เพราะขาดการฝึกฝนมา ต้องอาศัยการฝึกฝน ยิ่งทำบทเรียนมากเท่าไรก็ยิ่งมีความคล่องในการเรียนมากเท่านั้น สภาพของเราก็เหมือนกันถ้าหากว่ามีการฝึกฝน พยายามดิ้นรนในลักษณะที่เรียกว่า ฝืนๆ ในสิ่งที่เป็นกระแสโลก พูดง่ายๆ ก็คือ ฝืนในเรื่องของกิเลส มันจะรักเราก็อย่ารักมัน มันจะโลภเราก็อย่าโลภกับมัน มันจะโกรธเราก็อย่าโกรธกับมัน มันจะหลงเราก็อย่าหลงกับมัน พอเราฝืนไปนานๆ จะกลายเป็นความเคยชิน กำลังมันเพียงพอ เรื่องที่เคยหนักก็เบา แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่ต้องฝืน เพราะเห็นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง สภาพแท้จริงเป็นอย่างไร จากที่แบกก็เริ่มปล่อย ปล่อยเมื่อไหร่มันก็หนักน้อยลง

ถาม: เริ่มจากอาการเบื่อใช่ไหมคะ ?

ตอบ: ตัวเบื่อไม่ใช่ตัวเริ่ม ตัวเบื่อเป็นปลาย ถ้าถึงตรงเบื่อเมื่อไหร่ แสดงว่าเข้าถึงความดีแล้ว พยายามรักษาความดีนั้นเอาไว้ เบื่อสุดๆ ก็ให้มันเบื่อไป พิจารณาให้เห็นว่าแม้แต่ตัวเราที่ตั้งใจปฏิบัติที่จะไปนิพพานยังต้องการทุกข์ทนขนาดนั้น เพราะว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ เศร้าเป็นทุกข์ เสียใจเป็นทุกข์ ร่ำไห้คร่ำครวญเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจเป็นทุกข์ ได้ของที่ไม่รักเป็นทุกข์ จากของที่รักเป็นทุกข์

ทุกอย่างมีแต่ทุกข์ทั้งหมด กระทั่งอารมณ์ใจที่เบื่อโลกอยู่ตอนนี้มันก็ทุกข์ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีทุกข์ อย่างนี้ต้องการอีกไหม รวบท้ายเข้ามา ในเมื่อเราไม่ต้องการ ไปนิพพานดีกว่า ทนอยู่กับมันชาตินี้ชาติเดียว การที่เราอยู่กับมันชาตินี้ชาติเดียว เปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดนับกัปไม่ถ้วน มันแป๊บเดียวเอง ในเมื่อมันแป๊บเดียวจะอยู่กับมันอย่างมีความสุขไม่ได้ ให้เห็นว่าธรรมดาของการเกิดเป็นอย่างนี้เอง จะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเอ็ง ข้าจะไปนิพพานก็แล้วกัน

วันก่อนสอนพระ ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ยามต้น-ท่านได้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติได้) พอยามสอง-ท่านก็ได้ จุตูปปาตญาณ (รู้ว่าคนและสัตว์มาจากไหน ตายแล้วไปไหน) ยามสุดท้าย-ท่านได้อาสวักขยญาณ (ทำกิเลสให้สิ้นไป) ตกลงพระพุทธเจ้าบรรลุด้วยวิชชาสามแต่กำลังของท่านคลุมทั้งอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณหมด

เคยมีคนถามหลวงพ่อว่า ทำไมเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อบอก วิชชา ๓ ของช้างต้องต่างกับอภิญญาของมด กำลังห่างกันขนาดนั้น คราวนี้โบราณเขาแบ่งคืนหนึ่งมี ๔ ยาม ได้แก่ ยามต้น-ปฐมยาม(หกโมงเย็นถึงสามทุ่ม) ยามสอง (สามทุ่มถึงเที่ยงคืน) ยามสาม (เที่ยงคืนถึงตีสาม) ยามสุดท้าย (ตีสามถึงหกโมงเช้า) ๔ ชั่วยาม

ยามต้น (หกโมงถึงสามทุ่ม) บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติไปเป็นแสนกัลป์) ยามสอง (สามทุ่มถึงเที่ยงคืน) บรรลุจตูปปาตญาณ (สามชั่วโมง) ยามสุดท้าย (หกชั่วโมงเต็มๆ) บรรลุอาสวักขยญาณ



สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ 
เดือนกันยายน ๒๕๔๕ 
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

ธรรมะแก้อารมณ์เบื่อหน่าย...บทที่ 6


อารมณ์เบื่อในร่างกายเป็นตัววิปัสสนาญาณ


การใช้วิปัสสนาญาณ ถ้ายังไม่ถึง นิพพิทาญาณ เพียงใด 
ก็ชื่อว่าอารมณ์ของบรรดาท่านพุทธบริษัทยังไม่มีผล
ในวิปัสสนาญาณ นิพพิทาญาณ นี่เป็นตัวแรกที่เข้าถึงผล 
แต่ ผลที่เข้าถึงตอนแรก บรรดาท่านพุทธบริษัท
อย่าคิดว่า มันจะทรงตัว เอากันแค่เบื่อเล็กน้อยเฉพาะเวลา 
ใหม่ ๆ เบื่อตลอดเวลาไม่ได้นะ 
มันจะไม่เบื่อตลอดเวลา บางครั้งเราจะมีความรู้สึก
เบื่อในร่างกายของเราเอง เอาร่างกายเราเป็นสำคัญ 
แล้วก็บางครั้งมันก็ไม่เบื่อ อารมณ์เบื่อมันจะน้อยกว่า
อารมณ์ไม่เบื่อ ก็ช่างมันถือว่ามีความเบื่อก็แล้วกัน
ธรรมโอวาท หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง (นำมาจาก facebook)
***********************************
อารมณ์เบื่อเป็นของดี แต่ก็เป็นของไม่ดีสำหรับจิตใจ


(
ตัดมาบางส่วนจากหนังสือ ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่มที่ 16)

อารมณ์เบื่อเป็นของดี แต่ก็เป็นของไม่ดีสำหรับจิตใจ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ถ้าหากไม่รู้จักเบื่อเสียเลย ก็จักเพลินอยู่กับโลกเสียทั้งหมด ไม่เห็นความไม่ดีของโลก ซึ่งโลกนี้มีแต่ความไม่เที่ยง อันนำมาซึ่งความทุกข์ จึงนับว่าเป็นการดีที่รู้จักเบื่อที่เห็นความไม่ดีของโลก แต่ที่ว่าอารมณ์เบื่อเป็นที่ไม่ดีก็เพราะจิตใจยังมีอารมณ์อึดอัด กลัดกลุ้มอยู่ในอารมณ์เบื่อนั้นๆ ดังนั้นจึงควรวางอารมณ์ เบื่อได้แต่ให้รีบวางไปในการยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา สรุปว่า เบื่อโลกแล้วเกาะความเบื่อจัดเป็นกิเลส (เบื่อไม่เป็น) แต่เบื่อโลกแล้ววางด้วยปัญญาโดยเห็นเป็นของธรรมดา จัดเป็นพระธรรม (เบื่อเป็น)....
********************************
อย่าให้ความเบื่อสิงใจอยู่นาน

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

         
. อย่าให้ความเบื่อสิงใจอยู่นาน เพราะอารมณ์นี้มันหดหู่ ทำลายความสุขของจิต พยายามดึงอารมณ์ให้เหนือขึ้นไป คือ ลงตัวสังขารุเปกขาญาณเข้าไว้

         
. เบื่อมันทำไม ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นกฎของธรรมดาสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่มีอะไรดี-ไม่มีอะไรเลว มันเป็นเรื่องของกฎธรรมดา เกิด เสื่อม ดับอยู่อย่างนั้นเป็นปกติ

          . ถ้าหากจิตเรารู้เท่าทันอริยสัจ ก็ไม่จำเป็นที่จักต้องไปเบื่อมัน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างลงตัวธรรมดาหมด ถ้าหากจักเบื่อ ก็ให้เบื่อกำลังใจของตนเอง

          . นี่เพราะจิตของเราไปยุ่งเอง เพราะฉะนั้นจักต้องหมั่นรักษากำลังใจของตนเองเข้าไว้ มีอะไรเกิดขึ้นให้แก้ไขที่ใจของตนเองเป็นสำคัญ หาเหตุ-หาผลให้พบในจิตของตนเองนั่นแหละ แก้ที่ตรงนั้น แล้วเจ้าจักพบชัยชนะของจิตเป็นลำดับไป

(ที่มา : จากหนังสือ ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่มที่ )

>>>>>> อ่านต่อตอนที่ 8