วิธีการทรงอารมณ์จิตให้เป็นฌาน |
|
|
|
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)
(เทศน์สอนพระเมื่อปี 2521)
..ต่อนี้ไปถ้าจิตใจของเราจะทรงความดีเราจะทำยังไง เลี้ยวเข้ามาหากรรมฐานที่เราเรียนกันแล้วเรียนกันอีก ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ก็เพราะว่ามีสันดานไม่จำ เป็นความเลวของสันดาน นั่นก็คือบทต้นที่สุดที่เราสอนกันว่า
จงทรงอารมณ์อยู่ใน อาณาปานุสสติกรรมฐาน พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าใช้คำภาวนาก็ใช้คำว่า พุทโธ ทรงอารมณ์ไว้เพียงเท่านี้
ถ้าเป็นพระเก่ามีกำลังใจดี ถ้ามีความเข้มแข็งก็จะสามารถได้ ทิพจักขุญาณ ถ้าหากว่าวิสัยทิพจักขุญาณไม่มี ถ้าเราทรงอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ เพียงแค่อย่างเลวเดือนเดียว อย่างเลวที่สุด 3 เดือน จิตเราก็ทรงก็ทรงฌาน
คนที่มีจิตทรงฌานเขามีอารมณ์สงบ
ไม่มีความฟุ้งซ่าน
ไม่มีความทะเยอทะยาน
ไม่มีความรักในระหว่างเพศ
ไม่มีความโลภในทรัพย์สิน
ไม่มีการอิจฉาริษยา
ไม่ระแวงบุคคลอื่นใดว่าจะเป็นศัตรูกับเรา
ไม่มีความมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
นี่จิตเพียงเท่านี้ ขอท่านจงพยายามทำให้ได้ มันก็ไม่ยากนัก
ดูตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความจริงพวกเรานี่ น่าจะให้พระเจ้าอยู่หัวท่านมาเอาอย่างเรา
แต่ว่าขอเตือนว่า ขอให้ทุกท่านจงเอาอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชภารกิจมากยากต่อการปฏิบัติ ให้มีการทรงตัวในด้านสมาธิ แต่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสมาธิได้ดี สามารถเข้าฌานออกฌานได้ทุกอย่าง
ครั้งที่แล้วพระองค์ทรงให้ผมบันทึกเสียงถวายไป ผมนั่งอยู่ชายทะเล ผมก็ใช้คลื่นทะเลเป็นกรรมฐาน
เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับฟังแล้ว เมื่อ 14 เมษายน พึ่งได้มีการเข้าเฝ้า พระองค์ตรัสว่า
"ผมชอบเหลือเกิน เพราะว่าคลื่นทะเลนี่ ผมใช้เป็นกรรมฐานมาตลอดเวลา ที่รู้จักคลื่นทะเลเป็นกรรมฐาน ก็เพราะว่าเล่นเรือใบ"
นี่เป็นจุดหนึ่งที่ความเข้าถึงความดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่นี่ก็จะขอพูดให้ฟัง เวลาเหลืออีก 5 นาที ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญสมาธิ จิตมีอารมณ์ทรงได้ดี ท่านทำยังไง ท่านทำแบบนี้ เวลาที่ท่านจะภาวนาท่านก็เอาจริงเอาจัง เอาจิตทรงตัว และเวลาจิตฟุ้งซ่าน ท่านก็ดูพระพุทธรูป ลืมตาดู คิดว่าพระพุทธรูปนี่เขาทำด้วยอะไร สีอะไร เอาใจไปอยู่ที่พระพุทธรูปเป็น พุทธานุสสติ
นี่พูดตอนนี้เพราะว่า พระองค์ตรัสกับ พระเทพรัตนราชสุดา เมื่อปีที่แล้ว ผมกำลังเฝ้าท่านอยู่ ตรัสตามนี้
และประการที่ 2 พระองค์ตรัสว่า เวลาที่ผมเดินเล่น ถ้าผมต้องการเดิน 1 ชั่วโมงนี่ ผมสะพายเทปเดินไปด้วย ผมก็เดินแล้วผมก็ตั้งใจฟังเสียงจากเทป เอาจิตจับเฉพาะเสียงเทป เสียงอื่นผมไม่สนใจ ต้องการเดิน 1 ชั่วโมง ก็ฟังสองหน้า ต้องการเดิน 2 ชั่วโมง ก็ฟังสี่หน้า จิตจับอยู่เฉพาะในเทป เมื่อยามว่างจากกิจการงานอื่น ก็เปิดเทปในห้อง ฟังเสียงเทปแล้วก็คิดตาม เวลาที่จะทรงบรรทมก็จะฟังเทปจนหลับไป แต่บางครั้งฟังแล้วบังคับไม่ให้หลับมันก็ไม่หลับ บางทีฟังแล้วต้องการให้หลับฟังยังไม่ถึงเทปมันก็หลับ
แสดงว่าพระองค์ทรงควบคุมกำลังใจได้ดี จริยาแบบนี้ ผมขอแนะนำให้ท่านทั้งหลาย จะเป็นพระใหม่หรือพระเก่าก็ตาม คนใหม่หรือคนเก่าก็ตาม จงสนใจและปฏิบัติเยี่ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ยามว่างต้องการสงัด จับอารมณ์หายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออก โธ เพียงเท่านี้ แต่ถ้าหากถ้าจิตจับทรงสมาธิไม่อยู่ ก็ฟังเสียงเทป ชอบเทปอะไรก็ฟังอย่างนั้น ฟังมาฟังไป ฟังซ้ำ ๆ ให้ขึ้นใจ หรือใช้ปัญญาพิจารณาตามไปด้วย อย่างนี้จะช่วยให้เราอยู่ในขอบเขตพระวินัย อยู่ในขอบเขตของระเบียบ มีจิตทรงอารมณ์ของกุศลอยู่ตลอดเวลา
ถ้าอารมณ์จิตทรงกุศลอยู่ตลอดเวลาก็ชื่อว่าเราเป็นคนดี เราเป็นเณรดี เราเป็นพระดี ความจุ้นจ้านไปห้องคนอื่นมันก็ไม่มี ความอยากดี อยากเด่น อยากประเสริฐมันก็ไม่มี ถ้าหากว่าจิตของเราทำได้อย่างนี้
จงจำไว้ว่า ตานี้เราจะลองฟังดู เวลาเรานอนไปเทปหนึ่งหน้าเราไม่ยอมให้หลับเราก็ไม่หลับ จิตจับอยู่เฉพาะที่เสียง เวลาฟังเสียงเทป จงเอาจิตจับที่เสียงทุกคำพูด อย่าให้ทุกคำพูดในเสียงนั้นคลาดจากหู หรือความรู้จากจิต จิตจับไว้เสมอ ต่อมาเมื่อเสียงนั้นชินฟังจนจำได้ ฟังหลาย ๆ หนก็ใช้ปัญญาพิจารณาตามไปในด้านของวิปัสสนาญาณ เพียงเท่านี้แหละ บรรดาท่านพระโยคาวจรทุกท่าน อารมณ์ของท่านจะทรงตัวได้ดีภายใน 1 เดือน
หลังจากนั้น อารมณ์ฌานจะปรากฏประกอบไปด้วยปัญญา และความชั่วของท่านมันก็จะไม่มี ที่เรายังมีความชั่วติดอยู่ในใจ ทั้งนี้ไม่ใช่อะไร เพราะว่าสันดานเรามันเลว ฟังแล้วได้ยินก็ฟังเหมือนไม่ได้ยิน เห็นแล้วทำเหมือนไม่เห็น ไม่รู้จักดูสภาวะของตัว ว่าตัวมีสภาพเช่นไร
เอาล่ะ วันนี้ก็ขอยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้
ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพระโยคาวจรทุกท่าน จงพากันตั้งกายให้ตรง ดำรงติดให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก สำหรับพระใหม่ เวลาหายใจเข้าให้นึกว่า พุธ แล้วหายใจออกให้นึกว่า โธ จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านจะเห็นว่าสมควรจะเลิก |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น