หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิธีทำให้บารมีเต็ม


วิธีทำให้บารมีเต็ม


พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)
บารมี นี่แปลว่า เต็ม
            คราวนี้มาว่ากันถึงการปลดร่างกาย จะมานั่งปลดกันเฉย ๆ จะมองทุกข์กันเฉย ๆ มันก็มองไม่เห็น มองเห็นเหมือนกันแต่ไม่ชัด องค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคย์ได้แสดงกฎของการปลดทุกข์ คือ ปลดอารมณ์แห่งความทุกข์ สร้างอารมณ์ความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ มีอยู่ 10 อย่าง ด้วยกันคือ
            (1) ทานบารมี
            (2) ศีลบารมี            

            (3) เนกขัมมบารมี            
            (4) ปัญญาบารมี            
            (5) วิริยบารมี            
            (6) ขันติบารมี            
            (7) สัจจบารมี            
            (8) อธิษฐานบารมี            
            (9) เมตตาบารมี            
            (10) อุเบกขาบารมี            

คำว่า บารมี นี่แปลว่า เต็ม เมื่อเต็มแล้วก็ต้องเต็มจริง ๆ เป็นอันว่าถ้าบารมีทั้ง 10 ประการนี้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์ ที่เรียกว่า ปรมัตถบารมี สำหรับพระสาวกนะ ไม่ใช่อันดับขั้นพระพุทธเจ้า สำหรับขั้นพระสาวกนี้ใช้อารมณ์ต่ำ อารมณ์ไม่สูงนักไม่ใช่ขั้นพระพุทธเจ้า
            ถ้าหากว่าบารมีทั้ง 10 ประการนี้เป็น ปรมัตถบารมี
            คำว่า ปรมัตถบารมี หมายความว่า มีอารมณ์ทรงสูงอย่างยิ่ง คำว่าอย่างยิ่งก็หมายความว่าไม่เคลื่อนไป อารมณ์ที่มีอาการตรงกันข้ามไม่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา
            ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ครบถ้วนบริบูรณ์ ทุกท่านก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระอรหัตตผล

บารมี 10
             บารมี นี่เขาแปลตามภาษาบาลีแปลว่า เต็ม แต่เนื้อแท้จริง ๆ ต้องใช้กำลังใจให้เต็ม ไม่ใช่เอาวัตถุมาเต็ม คือ
             (1) ทานบารมี จิตใจท่านพร้อมแล้วหรือยังที่จะให้ทานตามความสามารถ เพราะการให้ทานนี่เป็นการทำลายโลภะ ความโลภ
             (2) ศีลบารมี ศีลของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือเปล่า ทุกวันท่านพิจารณาศีลของท่านหรือเปล่าว่าครบถ้วนไหม
             (3) เนกขัมมบารมี การถือบวช การถือบวชในที่นี้ก็หมายถึงว่าเป็นการระงับนิวรณ์ 5 ประการ คือ กามฉันทะ เห็นรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมผัสที่ต้องการการมั่วสุมไปด้วยกามารมณ์เป็นโทษ มันเป็น อนิจจัง ไม่มีการทรงตัว รูปมันสวยไม่จริงสวยนิดหนึ่ง แล้วก็แก่ไปเสื่อมไปทุกวัน เสียงผ่านหูแล้วก็หายไป กลิ่นหอมกระทบจมูกแล้วก็หายไป สัมผัสที่เรานึกว่าดี ความจริงมันเป็นปัจจัยนำโทษมา นี่หมายถึงว่าสัมผัสระหว่างเพศมันนำโทษมาให้ หากต้องการสัมผัสแบบนั้นงานมาก งานมันก็เกิดขึ้นมาก กำลังใจต้องรักษาไว้ซึ่งกันและกัน ต้องเอาใจคนโน้น ต้องเอาใจคนนี้หนักใจมาก
             (4) ปัญญาบารมี นี่เราเห็นหรือยังว่าการเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วนี่ภาระต่าง ๆ เต็มไปหมด ที่พูดไปแล้วนี่มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นหาความสุขไม่ได้ ถ้าเราจะสุขได้จริง ๆ ก็ต้องวางการเกิดคือ วางขันธ์ 5 นี่เป็น ปัญญาบารมี
             (5) ทีนี้ วิริยบารมี ได้แก่ความเพียร เรามีความเพียรครบถ้วนแล้วหรือยัง คือใช้กำลังใจเป็นสำคัญ ไปหักห้ามความชั่วไม่ให้เข้ามายุ่งกับใจ              
             (6) ทีนี้ ขันติบารมี แปลว่า ความอดทน การกระทำความดีที่ฝืนอารมณ์เดิมต้องอดทนเพราะใจมันคอยจะต่ำ มันคบกิเลส ตัณหา อุปาทาน คือ มีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เราก็พิจารณาเห็นว่าความรักเป็นโทษ ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นโทษ เราจะฝืนกำลังใจที่มันคบกันมานาน เราก็ต้องใช้ความอดทน ไม่อย่างนั้นเราก็จะทรงตัวอยู่ไม่ได้
             (7) ต่อไป สัจจบารมี ความจริงใจ ที่เราตั้งใจจะห้ำหั่นกิเลสทั้ง 3 ประการให้มันสิ้นไป เราจะไม่ละความพยายามทรงสัจจะเข้าไว้ จะไม่ยอมทิ้งสัจจะคือความจริงใจ แต่ว่าการรักษาสัจจะต้องให้มันพอดีพอควร อย่าทำเกินพอดี การนั่งกรรมฐานเครียดเกินไป พระพุทธเจ้าไม่ใช้ ใช้อารมณ์ย่อหย่อนเกินไปไม่ใช้ ใช้อารมณ์พอดี ๆ เพื่อรักษาอาการของขันธ์ 5 ให้เป็นปกติ
             (8) และต่อไป อธิษฐานบารมี อธิษฐานต้องตั้งใจไว้เลยว่า การปฏิบัติแบบนี้ เราต้องการพระนิพพาน ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าทำเป็นแค่อุปนิสัย ถ้าอารมณ์คิดว่าเป็นแค่อุปนิสัยมันขี้เกียจง่าย ตั้งใจไว้เฉพาะว่าชาตินี้ทั้งชาติ อย่างเลวที่สุดเราจะเป็นพระโสดาบันให้ได้
            (9) และอีกอันหนึ่งคือ เมตตาบารมี เมตตาบารมีตัวนี้ก็เป็นตัว ตัดโทสะ ความพยาบาท ที่เป็นกิเลสตัวสำคัญ
            สำหรับ ปัญญาบารมี นั้นตัดโมหะ
             (10) อุเบกขาบารมี ทรงอารมณ์เฉย ในเมื่อกฎของกรรมที่เราทำไว้เป็นอกุศลในชาติก่อนที่เราทำมันมาให้ผล เราก็มีอารมณ์สบาย อะไรมันจะเกิดแก่เราบ้าง เราก็สบายที่เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ คือร่างกายมันจะแก่เราก็สบาย เฉย….เรารู้ว่าจะแก่ ถ้ามันจะป่วยใจเราก็สบาย เพราะรู้ว่ามันจะป่วย รักษาตัวเหมือนกัน หายก็หาย ตายแหล่ก็ช่างมัน ของรักของชอบใจที่จะต้องพลัดพรากจากกัน เรารู้ว่านี่เป็นธรรมดา อารมณ์ใจก็เฉย สบาย…เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา มันจะจากไปเราก็ห้ามมันไม่ได้ คนที่รักกันกับเราเขาประกาศเป็นศัตรูก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขากับเรายังมีกิเลสกัน ต่างคนต่างมีกิเลส เขาจะไปมันเป็นเรื่องของเขาเราไม่ตาม ถ้าเขาจะมาเราก็ไม่ปฏิเสธพร้อมยอมรับ ใจสบายเป็น อุเบกขาบารมี ร่างกายมันจะตายจะพังก็ช่าง จัดเป็น อุเบกขาบารมี             

กำลังใจ
            รวมความว่าบารมีทั้ง 10 ประการ คือ
            (1) จิตพร้อมจะให้ทาน
            (2) จิตทรงศีลอยู่เสมอ
            (3) เราพร้อมที่จะระงับนิวรณ์ 5 ประการ
            (4) เรามีปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎของธรรมดา มีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเป็นปกติ
            (5) เรามีความเพียรเพื่อจะทำลายกิเลสให้พินาศไป
            (6) เรามีขันติความอดทน ทนต่อการฝืนอารมณ์เพราะอารมณ์มันคอยต่ำ เราจะดึงขึ้นสูง มันก็จะคอยต่ำต้องทนดึงเข้าไว้
            (7) สัจจะ เมื่อตั้งใจจะทำลายกิเลสแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำลายกิเลสกันเรื่อยไป ไม่ถอยกลับ             
            (8) อธิษฐานตั้งอารมณ์ไว้ตรงว่าเราจะเข้าไปหาพระนิพพานให้ได้ จะไม่ยอมถอยหลัง จับจุดไว้จุดเดียวเท่านั้น
            (9) เมตตา ประกาศตนเป็นคนมีความรักปรารถนาในการสงเคราะห์คนทั้งหมดและสัตว์ทั้งหมด ไม่ถือว่าใครเป็นศัตรูร้ายของเรา
            (10) อุเบกขา มีความวางเฉย วางเสียได้เมื่อกฎของกรรมจะเข้ามาสนองตน
          
        ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอนบารมีทั้ง 10 ประการ ก็คือกำลังใจ ถ้ากำลังใจของท่านทั้ง 10 ประการครบถ้วนบริบูรณ์ละก็ความเป็นพระโสดาบันก็เป็นเรื่องเล็ก เพราะอะไร เพราะว่าเรามีเครื่องมือพร้อมแล้ว...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น