หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

การเข้าพระนิพพานในวิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด

ทางลัดไปสู่พระนิพพาน?


ถาม : ทางลัดไปสู่พระนิพพาน?
ตอบ: ทางลัดไม่มีจ้ะ การปฏิบัติทุกอย่างทางตรงสั้นที่สุด คือจับอารมณ์พระโสดาบันไปเลย อันดับแรกต้องเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงๆ อันดับที่สอง รักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์ อันดับที่สามตั้งใจเสมอว่าตายแล้วจะไปนิพพานคราวนี้การที่เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งใจว่าตายแล้วจะไปนิพพาน ต้องมีสมาธิควบอยู่ถึงจะทรงตัว ดังนั้น เราจะทิ้งอาณาปานสติ คือการนึกถึงลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ต้องนึกอยู่เสมอเสร็จแล้วก็ทวนศีลอยู่ทุกวัน ศีลทุกข้อของเราวันนี้บริสุทธิ์ไหม ? อันไหนบกพร่องพรุ่งนี้เราต้องแก้ไขให้มันดีกว่าเดิม อันไหนดีอยู่แล้ว พรุ่งนี้เราจะทำให้ดียิ่งกว่านี้ ศีลทุกข้ออย่าละเมิดด้วยตัวเอง อย่ายุให้คนอื่นเขาทำ อย่ายินดีเมื่อคนอื่นเขาทำ ต้องทวนอยู่อย่างนี้ตลอดทุกวัน
ถาม : คำว่า นิพพาน นึกถึงพระพุทธเจ้า ??
ตอบ: เอาแค่นั้นล่ะจ้ะ ตั้งใจว่านั่นคือพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ ไหน นอกจากบนพระนิพพาน เราเห็นท่านคืออยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนนิพพาน เอาแค่นั้นพอ คิดว่าเราตาย เราก็ขอไปอยู่กับท่านตรงนั้น ถึงไม่เห็นเลยก็ไม่ เป็นไร ให้มั่นใจว่านิพพานอยู่ที่ไหน เราจะไปที่นั่นก็ใช้ได้เหมือนกัน เพราะ ฉะนั้นการปฏิบัติทางลัดไม่มีนะจ๊ะ มีแต่ทางตรง ซึ่งสั้นที่สุด ลองไปลัดดูสิ ทางลัดทางไหนก็ตามมันอ้อมทั้งนั้นแหละ

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ


การเข้าพระนิพพานในวิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด


โดย…หลวงพ่อพระราชพรหมยาน


สำหรับการที่จะเข้าพระนิพพานนั้น จิตจะต้องถูกฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี ซึ่งก็แยกย่อยออกไปได้หลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด คือ
1ไม่สงสัย เชื่อมั่น และเคารพพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด (สุดจิตสุดใจ) ตลอดชีวิต ซึ่งความเชื่อนี้ รวมไปถึงพระธรรมคำสอนในข้อที่ว่า…
นิพพานัง ปรมัง สุขัง  *พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง*

นิพพานัง ปรมัง สูญญัง *พระนิพพานเป็นที่ที่สูญจากกิเลส จากอวิชชาทั้งมวล*
จากพระธรรมทั้ง ๒ ประโยคนี้ ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า พระนิพพานเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านประทับอยู่จริง เมื่อเราเชื่อมั่นอย่างสุดจิตสุดใจ ว่า พระนิพพานมีจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระองค์อยู่จริง การที่เราจะได้มโนมยิทธิหรือไม่ นั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ความเชื่อมั่น เชื่อมั่นว่าพระนิพพานมีอยู่จริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีอยู่ จริง พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ประทับอยู่บนพระนิพพานจริง เมื่อเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้แล้ว ให้ลงมือปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ที่พระองค์ท่านทรงชี้แนะเอาไว้ สิ่งนั้นคือ ขั้นตอนต่างๆ ที่ลัดที่สุด เร็วที่สุด ตัดตรงที่สุด ซึ่งมีดังนี้

2. มีศีล 5 (เป็นอย่างน้อย)

3. ทุกครั้งที่ทำความดี (ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด หรือยิ่งใหญ่เพียงไหนก็ตาม)
ให้อธิษฐานขอไปพระนิพพาน ว่า...ด้วยกุศลผลบุญนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเถิด ภพภูมิอื่นใด ไม่ว่าจะเป็น อบายภูมิ โลกมนุษย์ สวรรค์ พรหม หรืออรูปพรหมก็ตาม ข้าพเจ้าไม่ปรารถนา…ข้าพเจ้าปรารถนาเพียงพระนิพพานเป็นที่สุด..ตายเมื่อ ไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น..

4. พิจารณานึกถึงความตายอยู่เสมอ
พร้อมกับพิจารณาให้เห็นว่าสังขารร่างกายนี้ไม่ใช่ เรา ไม่ใช่ของๆ เรา เราไม่มีในสังขาร ร่างกายนี้ สังขารร่างกายนี้ไม่มีในเรา นึกน้อมพิจารณาจนจิตยอมรับสภาพตามความเป็นจริง และมีการปล่อยวางในสังขารร่างกายนี้

5. พิจารณาตัดขันธ์ 5 และพิจารณาถึงความทุกข์ ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ
เมื่อทุกข์ขนาดนี้แล้ว มีแต่โรคภัยไข้เจ็บแบบนี้ ต้องกระทบกระทั่งกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจทั้งหลาย ต้องพลัดพรากจากคนที่ เรารักและคนที่รักเรา สิ่งเหล่านี้มันทุกข์ใช่ไหม เมื่อทุกข์ขนาดนี้แล้วเรายังอยากที่จะเวียนว่ายตายเกิดอีกหรือไม่

6. เมื่อพบความจริงของชีวิตแล้ว… ต่อมาให้จิตเชื่อมั่น และจับภาพพระพุทธเจ้า หรือ ภาพพระพุทธรูปที่เรารักชอบ

ที่พระนิพพานซึ่งเป็นที่ประทับแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระ ภาคเจ้าเป็นที่สุด (ไม่ว่าเราจะได้ มโนมยิทธิหรือไม่ก็ตาม) หมั่นทำความดี ละเว้นความชั่ว และอธิษฐานให้บ่อยๆ ทำจนจิตชิน จนเขาภาวนาของเขาเองได้ยิ่งดี ว่า… 


สังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์ เป็นรังของโรค มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเบื่อหน่าย ถ้าข้าพเจ้าตายลงเมื่อไหร่ ขอให้ดวงจิต ของข้าพเจ้าพุ่งตรงสู่พระนิพพานเป็นที่สุดด้วยเถิด และขอให้ข้าพเจ้าได้พบองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบนพระนิพพานนั้นโดยทันทีด้วยเถิด

ข้อสำคัญของการเข้าพระนิพพาน คือ จิตจะต้องเกิดอาการเบื่อหน่ายในร่างกาย (ขันธ์5) อย่าง จริงๆ จัง…

ดังนั้นต้องมีการพิจารณาตัดขันธ์ 5 พิจารณาถึงความตาย ความทุกข์ทั้งหลาย อยู่เสมอๆ พิจารณาบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้งได้ก็จะดีมาก แต่เมื่อพิจารณามากเข้าๆ จิตอาจจะเบื่อจนนึกอยากจะฆ่าตัวตาย
ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาสมทบเข้าไปว่า…

ถึงสังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่าย แต่ข้าพเจ้าจะยังคงรักษาธาตุขันธ์นี้ต่อไป เพื่อยังประโยชน์ต่อสรรพชีวิตอื่น และธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ตราบจนกว่าจะถึงอายุขัยของข้าพเจ้าเอง 
เสร็จแล้ว พยายามพิจารณาทุกสิ่งให้เป็น “ธรรมดา” ยอมรับสภาพของชีวิตตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมื่อใกล้ตายจิตจะมารวมตัวกันเองโดยไม่ต้องบังคับ เพราะจิตมีความชินกับการที่ จิตเราจับอยู่ที่พระพุทธองค์ และพระนิพพานเสมอ


ให้เชื่อมั่นว่า…ตายเมื่อไหร่เราขึ้นพระนิพพานแน่นอน…



******************************************

เรื่อง วิธีทำให้ถึงอรหันต์ สั้นที่สุด ง่ายที่สุด

...เวลานั้นองค์สมเด็จพระทศพลเสด็จมาพอดี ทรงประทับยืนอยู่เหนือศรีษะด้านหน้า มีแสงสว่างมากแล้วท่านตรัส ท่านบอกว่า

"คุณ คนที่ปฏิบัติอยู่แล้วทั้งหมดนี้กำลังใหญ่ คือเข้าถึงนิพพานทุกคน แต่ทว่าเพื่อความไม่ประมาทให้เขาทำอย่างนี้

วันหนึ่งจะใช้เวลาไหนก็ได้ เวลาที่ใจสบาย ถ้าเวลาอื่นมันติดงานมากก็เอาเวลานอน
นอนก่อนจะหลับหรือว่าตื่นใหม่ๆ ใจสบาย เอาจิตใจจับนึกถึงท่าน (พระพุทธเจ้า) ถ้าบุคคลใดไม่ได้ทิพจักขุญานก็นึกภาพเอาเอง กำหนดภาพพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ให้เป็นประกาย

บังคับจิต ถ้าเห็นเป็นสีเหลืองก็บังคับให้เป็นสีแก้วให้ได้

ทำอยู่อย่างนี้ไม่กี่วันหรอกก็เป็น ให้จิตมันเป็นฌาน ถ้านึกถึงเมื่อไรก็เห็นพระพุทธเจ้าเป็นสีแก้วเป็นประกายทุกวัน"


องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ท่านบอกว่าถ้าเขาทำอย่างนี้นะ ได้ทุกวันอย่าได้ขาด วันหนึ่งใช้เวลา 2-3 นาทีก็ไม่เป็นไร ฉันไม่จำกัดเวลาว่าจะใช้เวลานานหรือเวลาเร็ว

ถ้าเขาทำอย่างนี้ได้ทุกวันแล้วก็ทรงอารมณ์ตามที่บอกไว้คือ
1) นึกถึงความตายไว้ อย่าประมาทในชีวิต
2) เคารพในพระรัตนตรัย
3) ทรงศีล 5 บริสุทธิ์
4) จิตหวังพระนิพพานอย่างเดียว

ท่านบอกว่าเป็นอย่างนี้ละก็ ถ้าก่อนอายุขัยของเขา 7 วัน ท่านกำหนดให้เลยนะ ว่าก่อนอายุขัยอีก 7 วันต้องตายแน่อยู่ไม่ได้ ตอนนั้นกระแสจิตของเขาจะเห็นภาพในอากาศเต็มจักรวาล ทั้งพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี แพรวพราวไปหมด และก็หลังจากนั้นไปเมื่อกำลังใจของตนจะพ้นกำหนดในการทรงสังขาร
*สมเด็จพระพิชิตมารบอกว่าจะเข้าถึงอรหัตผลทันที*



คำสอน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
จากหนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง 39

วิธีการทรงอารมณ์จิตให้เป็นฌาน




วิธีการทรงอารมณ์จิตให้เป็นฌาน

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)
(เทศน์สอนพระเมื่อปี 2521)

..ต่อนี้ไปถ้าจิตใจของเราจะทรงความดีเราจะทำยังไง เลี้ยวเข้ามาหากรรมฐานที่เราเรียนกันแล้วเรียนกันอีก ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ก็เพราะว่ามีสันดานไม่จำ เป็นความเลวของสันดาน นั่นก็คือบทต้นที่สุดที่เราสอนกันว่า
             จงทรงอารมณ์อยู่ใน อาณาปานุสสติกรรมฐาน พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าใช้คำภาวนาก็ใช้คำว่า พุทโธ ทรงอารมณ์ไว้เพียงเท่านี้
             ถ้าเป็นพระเก่ามีกำลังใจดี ถ้ามีความเข้มแข็งก็จะสามารถได้ ทิพจักขุญาณ ถ้าหากว่าวิสัยทิพจักขุญาณไม่มี ถ้าเราทรงอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ เพียงแค่อย่างเลวเดือนเดียว อย่างเลวที่สุด 3 เดือน จิตเราก็ทรงก็ทรงฌาน
             คนที่มีจิตทรงฌานเขามีอารมณ์สงบ             
             ไม่มีความฟุ้งซ่าน             
             ไม่มีความทะเยอทะยาน             
             ไม่มีความรักในระหว่างเพศ             
             ไม่มีความโลภในทรัพย์สิน             
             ไม่มีการอิจฉาริษยา             
             ไม่ระแวงบุคคลอื่นใดว่าจะเป็นศัตรูกับเรา             
             ไม่มีความมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข             
              นี่จิตเพียงเท่านี้ ขอท่านจงพยายามทำให้ได้ มันก็ไม่ยากนัก          
             ดูตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความจริงพวกเรานี่ น่าจะให้พระเจ้าอยู่หัวท่านมาเอาอย่างเรา
             แต่ว่าขอเตือนว่า ขอให้ทุกท่านจงเอาอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว             ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชภารกิจมากยากต่อการปฏิบัติ ให้มีการทรงตัวในด้านสมาธิ แต่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสมาธิได้ดี สามารถเข้าฌานออกฌานได้ทุกอย่าง
             ครั้งที่แล้วพระองค์ทรงให้ผมบันทึกเสียงถวายไป ผมนั่งอยู่ชายทะเล ผมก็ใช้คลื่นทะเลเป็นกรรมฐาน
             เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับฟังแล้ว เมื่อ 14 เมษายน พึ่งได้มีการเข้าเฝ้า พระองค์ตรัสว่า
             "ผมชอบเหลือเกิน เพราะว่าคลื่นทะเลนี่ ผมใช้เป็นกรรมฐานมาตลอดเวลา ที่รู้จักคลื่นทะเลเป็นกรรมฐาน ก็เพราะว่าเล่นเรือใบ"
             นี่เป็นจุดหนึ่งที่ความเข้าถึงความดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
             แต่นี่ก็จะขอพูดให้ฟัง เวลาเหลืออีก 5 นาที ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญสมาธิ จิตมีอารมณ์ทรงได้ดี ท่านทำยังไง ท่านทำแบบนี้ เวลาที่ท่านจะภาวนาท่านก็เอาจริงเอาจัง เอาจิตทรงตัว และเวลาจิตฟุ้งซ่าน ท่านก็ดูพระพุทธรูป ลืมตาดู คิดว่าพระพุทธรูปนี่เขาทำด้วยอะไร สีอะไร เอาใจไปอยู่ที่พระพุทธรูปเป็น พุทธานุสสติ
             นี่พูดตอนนี้เพราะว่า พระองค์ตรัสกับ พระเทพรัตนราชสุดา เมื่อปีที่แล้ว ผมกำลังเฝ้าท่านอยู่ ตรัสตามนี้             
และประการที่ 2 พระองค์ตรัสว่า เวลาที่ผมเดินเล่น ถ้าผมต้องการเดิน 1 ชั่วโมงนี่ ผมสะพายเทปเดินไปด้วย ผมก็เดินแล้วผมก็ตั้งใจฟังเสียงจากเทป เอาจิตจับเฉพาะเสียงเทป เสียงอื่นผมไม่สนใจ ต้องการเดิน 1 ชั่วโมง ก็ฟังสองหน้า ต้องการเดิน 2 ชั่วโมง ก็ฟังสี่หน้า จิตจับอยู่เฉพาะในเทป เมื่อยามว่างจากกิจการงานอื่น ก็เปิดเทปในห้อง ฟังเสียงเทปแล้วก็คิดตาม เวลาที่จะทรงบรรทมก็จะฟังเทปจนหลับไป แต่บางครั้งฟังแล้วบังคับไม่ให้หลับมันก็ไม่หลับ บางทีฟังแล้วต้องการให้หลับฟังยังไม่ถึงเทปมันก็หลับ
             แสดงว่าพระองค์ทรงควบคุมกำลังใจได้ดี จริยาแบบนี้ ผมขอแนะนำให้ท่านทั้งหลาย จะเป็นพระใหม่หรือพระเก่าก็ตาม คนใหม่หรือคนเก่าก็ตาม จงสนใจและปฏิบัติเยี่ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

             ยามว่างต้องการสงัด จับอารมณ์หายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออก โธ เพียงเท่านี้ แต่ถ้าหากถ้าจิตจับทรงสมาธิไม่อยู่ ก็ฟังเสียงเทป ชอบเทปอะไรก็ฟังอย่างนั้น ฟังมาฟังไป ฟังซ้ำ ๆ ให้ขึ้นใจ หรือใช้ปัญญาพิจารณาตามไปด้วย อย่างนี้จะช่วยให้เราอยู่ในขอบเขตพระวินัย อยู่ในขอบเขตของระเบียบ มีจิตทรงอารมณ์ของกุศลอยู่ตลอดเวลา
             ถ้าอารมณ์จิตทรงกุศลอยู่ตลอดเวลาก็ชื่อว่าเราเป็นคนดี เราเป็นเณรดี เราเป็นพระดี ความจุ้นจ้านไปห้องคนอื่นมันก็ไม่มี ความอยากดี อยากเด่น อยากประเสริฐมันก็ไม่มี ถ้าหากว่าจิตของเราทำได้อย่างนี้
             จงจำไว้ว่า ตานี้เราจะลองฟังดู เวลาเรานอนไปเทปหนึ่งหน้าเราไม่ยอมให้หลับเราก็ไม่หลับ จิตจับอยู่เฉพาะที่เสียง เวลาฟังเสียงเทป จงเอาจิตจับที่เสียงทุกคำพูด อย่าให้ทุกคำพูดในเสียงนั้นคลาดจากหู หรือความรู้จากจิต จิตจับไว้เสมอ
             ต่อมาเมื่อเสียงนั้นชินฟังจนจำได้ ฟังหลาย ๆ หนก็ใช้ปัญญาพิจารณาตามไปในด้านของวิปัสสนาญาณ เพียงเท่านี้แหละ บรรดาท่านพระโยคาวจรทุกท่าน อารมณ์ของท่านจะทรงตัวได้ดีภายใน 1 เดือน

             หลังจากนั้น อารมณ์ฌานจะปรากฏประกอบไปด้วยปัญญา และความชั่วของท่านมันก็จะไม่มี ที่เรายังมีความชั่วติดอยู่ในใจ ทั้งนี้ไม่ใช่อะไร เพราะว่าสันดานเรามันเลว ฟังแล้วได้ยินก็ฟังเหมือนไม่ได้ยิน เห็นแล้วทำเหมือนไม่เห็น ไม่รู้จักดูสภาวะของตัว ว่าตัวมีสภาพเช่นไร
             เอาล่ะ วันนี้ก็ขอยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้
             ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพระโยคาวจรทุกท่าน จงพากันตั้งกายให้ตรง ดำรงติดให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก สำหรับพระใหม่ เวลาหายใจเข้าให้นึกว่า พุธ แล้วหายใจออกให้นึกว่า โธ จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านจะเห็นว่าสมควรจะเลิก

วิธีทำให้บารมีเต็ม


วิธีทำให้บารมีเต็ม


พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)
บารมี นี่แปลว่า เต็ม
            คราวนี้มาว่ากันถึงการปลดร่างกาย จะมานั่งปลดกันเฉย ๆ จะมองทุกข์กันเฉย ๆ มันก็มองไม่เห็น มองเห็นเหมือนกันแต่ไม่ชัด องค์สมเด็จพระสวัสดิโสภาคย์ได้แสดงกฎของการปลดทุกข์ คือ ปลดอารมณ์แห่งความทุกข์ สร้างอารมณ์ความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ มีอยู่ 10 อย่าง ด้วยกันคือ
            (1) ทานบารมี
            (2) ศีลบารมี            

            (3) เนกขัมมบารมี            
            (4) ปัญญาบารมี            
            (5) วิริยบารมี            
            (6) ขันติบารมี            
            (7) สัจจบารมี            
            (8) อธิษฐานบารมี            
            (9) เมตตาบารมี            
            (10) อุเบกขาบารมี            

คำว่า บารมี นี่แปลว่า เต็ม เมื่อเต็มแล้วก็ต้องเต็มจริง ๆ เป็นอันว่าถ้าบารมีทั้ง 10 ประการนี้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์ ที่เรียกว่า ปรมัตถบารมี สำหรับพระสาวกนะ ไม่ใช่อันดับขั้นพระพุทธเจ้า สำหรับขั้นพระสาวกนี้ใช้อารมณ์ต่ำ อารมณ์ไม่สูงนักไม่ใช่ขั้นพระพุทธเจ้า
            ถ้าหากว่าบารมีทั้ง 10 ประการนี้เป็น ปรมัตถบารมี
            คำว่า ปรมัตถบารมี หมายความว่า มีอารมณ์ทรงสูงอย่างยิ่ง คำว่าอย่างยิ่งก็หมายความว่าไม่เคลื่อนไป อารมณ์ที่มีอาการตรงกันข้ามไม่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา
            ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างนี้ครบถ้วนบริบูรณ์ ทุกท่านก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นพระอรหัตตผล

บารมี 10
             บารมี นี่เขาแปลตามภาษาบาลีแปลว่า เต็ม แต่เนื้อแท้จริง ๆ ต้องใช้กำลังใจให้เต็ม ไม่ใช่เอาวัตถุมาเต็ม คือ
             (1) ทานบารมี จิตใจท่านพร้อมแล้วหรือยังที่จะให้ทานตามความสามารถ เพราะการให้ทานนี่เป็นการทำลายโลภะ ความโลภ
             (2) ศีลบารมี ศีลของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือเปล่า ทุกวันท่านพิจารณาศีลของท่านหรือเปล่าว่าครบถ้วนไหม
             (3) เนกขัมมบารมี การถือบวช การถือบวชในที่นี้ก็หมายถึงว่าเป็นการระงับนิวรณ์ 5 ประการ คือ กามฉันทะ เห็นรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมผัสที่ต้องการการมั่วสุมไปด้วยกามารมณ์เป็นโทษ มันเป็น อนิจจัง ไม่มีการทรงตัว รูปมันสวยไม่จริงสวยนิดหนึ่ง แล้วก็แก่ไปเสื่อมไปทุกวัน เสียงผ่านหูแล้วก็หายไป กลิ่นหอมกระทบจมูกแล้วก็หายไป สัมผัสที่เรานึกว่าดี ความจริงมันเป็นปัจจัยนำโทษมา นี่หมายถึงว่าสัมผัสระหว่างเพศมันนำโทษมาให้ หากต้องการสัมผัสแบบนั้นงานมาก งานมันก็เกิดขึ้นมาก กำลังใจต้องรักษาไว้ซึ่งกันและกัน ต้องเอาใจคนโน้น ต้องเอาใจคนนี้หนักใจมาก
             (4) ปัญญาบารมี นี่เราเห็นหรือยังว่าการเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วนี่ภาระต่าง ๆ เต็มไปหมด ที่พูดไปแล้วนี่มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นหาความสุขไม่ได้ ถ้าเราจะสุขได้จริง ๆ ก็ต้องวางการเกิดคือ วางขันธ์ 5 นี่เป็น ปัญญาบารมี
             (5) ทีนี้ วิริยบารมี ได้แก่ความเพียร เรามีความเพียรครบถ้วนแล้วหรือยัง คือใช้กำลังใจเป็นสำคัญ ไปหักห้ามความชั่วไม่ให้เข้ามายุ่งกับใจ              
             (6) ทีนี้ ขันติบารมี แปลว่า ความอดทน การกระทำความดีที่ฝืนอารมณ์เดิมต้องอดทนเพราะใจมันคอยจะต่ำ มันคบกิเลส ตัณหา อุปาทาน คือ มีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เราก็พิจารณาเห็นว่าความรักเป็นโทษ ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นโทษ เราจะฝืนกำลังใจที่มันคบกันมานาน เราก็ต้องใช้ความอดทน ไม่อย่างนั้นเราก็จะทรงตัวอยู่ไม่ได้
             (7) ต่อไป สัจจบารมี ความจริงใจ ที่เราตั้งใจจะห้ำหั่นกิเลสทั้ง 3 ประการให้มันสิ้นไป เราจะไม่ละความพยายามทรงสัจจะเข้าไว้ จะไม่ยอมทิ้งสัจจะคือความจริงใจ แต่ว่าการรักษาสัจจะต้องให้มันพอดีพอควร อย่าทำเกินพอดี การนั่งกรรมฐานเครียดเกินไป พระพุทธเจ้าไม่ใช้ ใช้อารมณ์ย่อหย่อนเกินไปไม่ใช้ ใช้อารมณ์พอดี ๆ เพื่อรักษาอาการของขันธ์ 5 ให้เป็นปกติ
             (8) และต่อไป อธิษฐานบารมี อธิษฐานต้องตั้งใจไว้เลยว่า การปฏิบัติแบบนี้ เราต้องการพระนิพพาน ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าทำเป็นแค่อุปนิสัย ถ้าอารมณ์คิดว่าเป็นแค่อุปนิสัยมันขี้เกียจง่าย ตั้งใจไว้เฉพาะว่าชาตินี้ทั้งชาติ อย่างเลวที่สุดเราจะเป็นพระโสดาบันให้ได้
            (9) และอีกอันหนึ่งคือ เมตตาบารมี เมตตาบารมีตัวนี้ก็เป็นตัว ตัดโทสะ ความพยาบาท ที่เป็นกิเลสตัวสำคัญ
            สำหรับ ปัญญาบารมี นั้นตัดโมหะ
             (10) อุเบกขาบารมี ทรงอารมณ์เฉย ในเมื่อกฎของกรรมที่เราทำไว้เป็นอกุศลในชาติก่อนที่เราทำมันมาให้ผล เราก็มีอารมณ์สบาย อะไรมันจะเกิดแก่เราบ้าง เราก็สบายที่เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ คือร่างกายมันจะแก่เราก็สบาย เฉย….เรารู้ว่าจะแก่ ถ้ามันจะป่วยใจเราก็สบาย เพราะรู้ว่ามันจะป่วย รักษาตัวเหมือนกัน หายก็หาย ตายแหล่ก็ช่างมัน ของรักของชอบใจที่จะต้องพลัดพรากจากกัน เรารู้ว่านี่เป็นธรรมดา อารมณ์ใจก็เฉย สบาย…เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา มันจะจากไปเราก็ห้ามมันไม่ได้ คนที่รักกันกับเราเขาประกาศเป็นศัตรูก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขากับเรายังมีกิเลสกัน ต่างคนต่างมีกิเลส เขาจะไปมันเป็นเรื่องของเขาเราไม่ตาม ถ้าเขาจะมาเราก็ไม่ปฏิเสธพร้อมยอมรับ ใจสบายเป็น อุเบกขาบารมี ร่างกายมันจะตายจะพังก็ช่าง จัดเป็น อุเบกขาบารมี             

กำลังใจ
            รวมความว่าบารมีทั้ง 10 ประการ คือ
            (1) จิตพร้อมจะให้ทาน
            (2) จิตทรงศีลอยู่เสมอ
            (3) เราพร้อมที่จะระงับนิวรณ์ 5 ประการ
            (4) เรามีปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎของธรรมดา มีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเป็นปกติ
            (5) เรามีความเพียรเพื่อจะทำลายกิเลสให้พินาศไป
            (6) เรามีขันติความอดทน ทนต่อการฝืนอารมณ์เพราะอารมณ์มันคอยต่ำ เราจะดึงขึ้นสูง มันก็จะคอยต่ำต้องทนดึงเข้าไว้
            (7) สัจจะ เมื่อตั้งใจจะทำลายกิเลสแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำลายกิเลสกันเรื่อยไป ไม่ถอยกลับ             
            (8) อธิษฐานตั้งอารมณ์ไว้ตรงว่าเราจะเข้าไปหาพระนิพพานให้ได้ จะไม่ยอมถอยหลัง จับจุดไว้จุดเดียวเท่านั้น
            (9) เมตตา ประกาศตนเป็นคนมีความรักปรารถนาในการสงเคราะห์คนทั้งหมดและสัตว์ทั้งหมด ไม่ถือว่าใครเป็นศัตรูร้ายของเรา
            (10) อุเบกขา มีความวางเฉย วางเสียได้เมื่อกฎของกรรมจะเข้ามาสนองตน
          
        ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอนบารมีทั้ง 10 ประการ ก็คือกำลังใจ ถ้ากำลังใจของท่านทั้ง 10 ประการครบถ้วนบริบูรณ์ละก็ความเป็นพระโสดาบันก็เป็นเรื่องเล็ก เพราะอะไร เพราะว่าเรามีเครื่องมือพร้อมแล้ว...

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

ระดับขั้นของบารมี


ระดับขั้นของบารมี


ถาม : ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่าบารมีเราจัดอยู่ในระดับใด ? และจะฝึกอย่างไรให้บารมีเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่เรียกตัวเองยังบารมีอ่อน ยังไม่เข้มแข็ง เวลาโดนกระทบจะทำกำลังใจตก แล้วบารมีเสื่อมได้ไหม ?

ตอบ บารมีก็คือกำลังใจ มีอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน คือ สามัญบารมี (บารมีขั้นต้น) อุปบารมี (บารมีขั้นกลาง) ปรมัตถบารมี (บารมีขั้นสูงสุด)ในแต่ละขั้นก็ยังมีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด รวมเป็น ๓ ระดับ ๙ ขั้น อยากรู้ว่าตัวเองอยู่ในบารมีระดับไหน ก็พิจารณาดูได้

ถ้าเป็น สามัญบารมีขั้นต้น นี่ เรื่องของทาน ศีล ภาวนา ไม่รู้เรื่องเลย 
สามัญบารมีขั้นกลาง บอกให้ทานก็รู้สึกเสียดาย ให้ไปก็เสียดายแทบจะขาดใจ แต่ถ้า สามัญบารมีขั้นปลาย ให้ทานได้ แต่ถ้าบอกให้รักษาศีลหรือเจริญภาวนา ก็จะไม่รู้เรื่องเลย

อุปบารมีขั้นต้น ให้ทานได้ บอกให้รักษาศีลร้อยวันพันปีจึงจะเข้าใจเสียที ส่วนใหญ่จะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา
อุปบารมีขั้นกลาง ให้ทานได้ รักษาศีลยังขาดตกบกพร่องไปเรื่อย ถ้าเป็น อุปบารมีขั้นปลาย ให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่บอกให้เจริญภาวนา ฟังยังไม่เข้าใจ เหมือนตักน้ำรดหัวตอ

ปรมัตถบารมีขั้นต้น ให้ทานได้ รักษาศีลได้ บอกให้เจริญภาวนา ก็ด่าชาวบ้านเขามากกว่า 
ปรมัตถบารมีขั้นกลาง ให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่ภาวนาบ้างด่าชาวบ้านเขาบ้าง ถ้าเป็น ปรมัตถบารมีขั้นปลาย จึงจะให้ทานได้ รักษาศีลได้ ภาวนาได้ตามปกติ

เราต้องดูตัวเราเอง ส่วนใหญ่ที่กำลังใจตก เกิดจากสมาธิตก ที่สมาธิตกเพราะปัญญาไม่พอ พิจารณาไม่ตลอดว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นธรรมดา การเกิดมาในโลกนี้ต้องมีการกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา

ในเมื่อปัญญาไม่พอ สมาธิไม่พอ ถึงเวลาโดนกระทบก็กำลังใจตก รีบตะกายใหม่ทันทีที่รู้ว่าตก อย่าทิ้งระยะเวลาไว้นาน เพราะถ้าทิ้งระยะเวลาไว้นาน เปิดโอกาสให้กิเลสครอบงำเราได้ ก็จะชักจูงเราไปไกล และพาให้คืนได้ยาก เคยเปรียบเอาไว้ว่า คนสองคนหกล้มพร้อมกัน คนหนึ่งลุกขึ้นได้ก็เดินต่อไปเลย แต่อีกคนเอาแต่นั่งคร่ำครวญอยู่นั่นแหละ เจ็บเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน เดินมาได้ตั้งไกลไม่น่าจะล้มเลย ถามว่าสองคนนี้ใครจะได้ระยะทางมากกว่ากัน ? ก็คือคนที่ล้มแล้วลุกเดินต่อเลย

ฉะนั้น..เรื่องการปฏิบัติก็เหมือนกัน รู้ว่าพลาดเมื่อไร ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลยว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะปฏิบัติใน ทาน ศีล ภาวนา ให้เต็มที่ต่อไป ถ้าเราไม่หวั่นไหว สามารถที่จะไปต่อได้เลย ต่อไปเรื่องที่จะกระทบให้เราหวั่นไหวได้ ก็จะมีน้อยลงไปตามลำดับ ยิ่งกำลังใจสูงมากเท่าไร การกระทบก็จะน้อยลงมากเท่านั้น


สนทนากับพระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๔

ขอขอบคุณ : เวบพลังจิต..
ที่มา http://www.watthakhanun.com/webboard...?t=2603&page=4

คนใกล้จะตายควรแนะนำอย่างไร


คนใกล้จะตายควรแนะนำอย่างไร

โดย หลวงพ่อฤาษีฯ

      
"..ถ้าป่วยใหม่ๆ อาตมาแนะนำให้ทำดังนี้คือ

      ๑) ให้นำพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร พร้อมอาหารและของใช้ที่จำเป็น นำไปให้ผู้ป่วยเห็นและให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า

      "ของ ทั้งหมดนี้ขอถวายเป็นสังฆทานแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญทั้งหมดนี้ให้เจ้ากรรมนายเวรของผู้ป่วยได้โมทนาและ อโหสิกรรมให้ผู้ป่วยด้วย"

      แล้วญาติก็นำของทั้งหมดไปถวายพระเป็นสังฆทาน จิตใจของผู้ป่วยจะได้สบายเพราะได้เห็นพระพุทธรูปและได้ทำบุญ

      ๒) ถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก ก็ควรนำเงินจะมากหรือน้อยตามแต่ศรัทธา ให้ผู้ป่วยถือเงินไว้และให้ตั้งจิตอธิษฐานว่า

      "เงินจำนวนนี้ขอถวายชำระหนี้สงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าเคยไปหยิบหรือนำของสงฆ์มาโดยเจตนาหรือไม่ได้เจตนาก็ตาม"

      ๓) ในระหว่างที่นอนป่วยอยู่ ควรนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ให้ผู้ป่วยได้มองเห็น อย่าไปตั้งไว้ในที่ผู้ป่วยเห็นไม่ถนัด ผู้ป่วยลืมตาขึ้นมาเมื่อใดก็จะเห็นพระทันที จิตของผู้ป่วยจะได้จับอยู่ที่พระ ใจจะสบายช่วยให้คลายจากทุกขเวทนาได้บ้าง และถ้าตายเมื่อใดก็จะไม่ลงนรก

      ๔) ถ้าป่วยมากมีทุกขเวทนามาก ควรแนะนำสั้นๆ ให้นึกถึงพระพุทธเจ้า หรืออย่างใดอย่างหนึ่งดีกว่า ถ้าไปแนะนำยาวๆ จะเกิดอาการกลุ้ม

      ๕) ถ้าต้องการให้ผู้ป่วยตายแล้วไปพระนิพพาน ให้นึกภาวนาว่า "นิพพานัง สุขัง" ถ้าคิดว่าป้องกันไม่ให้ลงนรกก็ให้ภาวนาว่า"พุทโธ" ให้บอกสั้นๆ อย่าบอกยาว

      ๖) ถ้าผู้ป่วยภาวนาไม่ไหว ก็ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ให้นึกถึงพระไว้หรือจะนึกถึงพระสงฆ์ก็ได้ อย่าไปแนะนำยาวๆ เพราะเวลานั้นทุกขเวทนามากจะทำให้กลุ้ม ดีไม่ดีจิตใจเขาดีอยู่แล้ว ถ้าแนะนำไม่ดี พูดมากไปเขาจะกลุ้มจะทำให้ลงนรกไป ให้ดูตาคนป่วย ถ้าตาลอยๆ ตาปรือๆ อย่าไปพูดมาก

      ฉะนั้น การแนะนำคนป่วยก่อนตาย ต้องระมัดระวังให้ดี.."

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

อาการของกายและจิตขณะปฏิบัติจากขณิกสมาธิสู่อัปปนาสมาธิ

อาการของกายและจิตขณะปฏิบัติจากขณิกสมาธิสู่อัปปนาสมาธิ 


พระอาจารย์เล็กท่านสอนเรื่อง ฌาน 4 เข้าใจง่ายมากๆ เลยเอามาโพสไว้อ่านทบทวนกันครับ...

ถาม : เมื่อจิตเริ่มเป็นสมาธิบ้างเล็กๆ น้อยๆ จากขณิกสมาธิไปสู่อุปจารสมาธิ แล้วก็สู่อัปปนาสมาธิ อันนี้ท่านพอจะบรรยายเป็นคำพูดได้ไหมครับ ไม่ใช่ในส่วนของการปฏิบัติแต่เป็นในส่วนของความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วในแต่ละขั้นจิตไปจับอยู่ตรงไหน อย่างไรบ้างครับ ?

ตอบ : อันดับแรกความรู้สึกทั้งหมดต้องอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หลุดจากลมหายใจเข้าออกเมื่อไรจะไม่สามารถสร้างสมาธิได้ เมื่อลมหายใจเข้าออกเริ่มทรงตัวอยู่ในลักษณะละเอียดขึ้น นั่นจะเป็นลักษณะของ ขณิกสมาธิ

ปกติสภาพจิตของเราอยู่ในลักษณะน้ำที่กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา น้ำที่กระเพื่อมอยู่ไม่สามารถที่จะสะท้อนเงาสิ่งต่างๆ ลงไปได้ แต่พอน้ำเริ่มนิ่ง เงาจากสิ่งต่างๆ จะสะท้อนลงไปให้เห็น บางทีก็ชัดเจนเหมือนกับมองของจริงเลยก็มี การรู้เห็นจะเริ่มปรากฏ นี่เป็นขั้นตอนของ อุปจารสมาธิ 
ก่อนที่จะถึงฌาน สมาธิที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ ก็คือใกล้จะทรงเป็นฌานนั้นจะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกายที่เรียกว่า ปีติ ก็จะมี ขณิกาปีติ ก็คือบางคนก็ขนลุกเป็นพักๆ ถ้า ขุททกาปีติ ก็น้ำตาไหล โอกกันติกาปีติ ร่างกายโยกไปโยกมา ดิ้นตึงตังโครมคราม ถ้าหากว่าเป็น อุเพ็งคาปีติ ก็ลอยขึ้นได้ ลอยไปไกลๆ ก็มี ถ้าหากว่าเป็น ผรณาปีติ บางทีก็ตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิด ความรู้สึกเป็นอย่างนั้นชัดเจนมาก จนบางคนไม่กล้าทำสมาธิอีก เพราะกลัวว่าจะตาย..!
เมื่อลมหายใจเข้าออกของเราทรงตัวมากขึ้น อาการภายนอกที่เกิดกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง (ซึ่งเป็นส่วนที่ชัดเจนที่สุด) แต่ไม่ก่อเกิดความรำคาญ ความรู้สึกทั้งหมดผูกอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก นี่เป็นอาการของ อัปปนาสมาธิขั้นแรกที่เรียกว่าปฐมฌาน
เมื่อก้าวเข้าไปถึงในส่วนอัปปนาสมาธิขั้นปฐมฌาน สิ่งที่มากระทบอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะไม่ได้รับความสนใจ เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน สมาธิจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า พอไปถึง อัปปนาสมาธิขั้นที่ ๒ ก็คือทุติยฌาน
ความรู้สึกผูกแน่นอยู่กับลมหายใจเข้า รู้สึกว่าลมละเอียดขึ้น บางทีคำภาวนาก็หายไป หรือท่านที่กำลังใจหยาบหน่อยก็ไม่รู้สึกถึงลมหายใจเลยก็มี แต่ว่าความรู้สึกยังคงจดจ่อแน่วนิ่งอยู่เฉพาะภายในเท่านั้น
พอไปถึง อัปปนาสมาธิขั้นที่ ๓ ที่เรียกว่าตติยฌาน ความรู้สึกทั้งหมดจะค่อยๆ รวบเข้ามา บางทีจะรู้สึกเย็นจากปลายมือปลายเท้าเข้ามา บางทีจะรู้สึกเย็นจากปลายจมูก หรือริมฝีปาก หรือคาง แล้วขยายตัวออกไป ความเย็นที่ขยายตัวออกไปนั้นบางทีก็รู้สึกเหมือนกับว่าตัวเราแข็งเป็นหิน หรือกลายเป็นก้อนน้ำแข็งไปแล้วก็มี บางทีก็รู้สึกว่าตึงแน่นเหมือนกับโดนมัดศีรษะจรดปลายเท้าเลยก็มี อาจจะเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเหมือนโดนสาปเป็นหินไปเลยก็มี แต่ว่าความรู้สึกทั้งหมดก็ยังจดจ่อมั่นคง แน่วนิ่งอยู่ภายในเหมือนเดิม อันนี้เป็นลักษณะของอัปปนาสมาธิขั้นที่ ๓ หรือตติยฌาน 
แล้วความรู้สึกทั้งหมดก็จะรวบมาอยู่จุดใดจุดหนึ่งภายในร่างกายของเรา อาจจะเป็นตรงหน้าก็ดี ในศีรษะก็ดี หรืออาจจะเป็นในอกในท้องก็ตาม จะสว่างไสว สว่างโพลงอยู่ตรงนั้น ความรู้สึกทั้งหมดจดจ่อแน่วนิ่งอยู่ภายใน ไม่ส่งออกมาภายนอกเลย อะไรเกิดขึ้นภายนอกไม่รับรู้โดยสิ้นเชิง อันนี้เป็น อัปปนาสมาธิขั้นสุดท้ายคือขั้นที่ ๔ คือจตุถฌาน


สรุปว่าไม่ว่าจะเป็นฌานขั้นไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิก็ตาม ใจจะจดจ่ออยู่ภายใน ไม่ได้ส่งออกนอก ส่งออกนอกเมื่อไร ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น สมาธิก็จะไม่ทรงตัว 

ถาม : สำหรับผู้ที่เคยได้สมาธิขั้นต้นตั้งแต่ขณิกสมาธิขึ้นไป ยังมีโอกาสตกนรกอีกไหมครับ ?

ตอบ : ตก ๑๐๐ % ต่อให้ได้ฌาน ๔ แล้วก็มีโอกาสตกนรก ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะทรงอยู่ในสมาธินั้นในวาระก่อนที่จะตาย หรือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีลตามธรรม โลกียอภิญญานั้นจะเปรียบไปแล้วไม่ได้ห่างจากขอบนรกเลย พร้อมที่ลงได้ตลอดเวลา ยิ่งมีความสามารถสูงกว่าคนอื่นแล้วทะนงตน ใช้ความสามารถนั้นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ก็ยิ่งสั่งสมกรรมพาตนเองลงนรกได้ง่ายยิ่งขึ้น


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕



การเจริญสมาธิภาวนาต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และจริงจัง

ถาม : เมื่อปฏิบัติแล้วคนที่ไม่ได้สมาธิอาจจะไม่มีอะไร แต่คนที่เริ่มได้สมาธิจะมีอะไรต่าง ๆ มาปรากฏเรื่อย ๆ จิตใจก็จะหวั่นไหว พอถูกทำลายสมาธิไป การที่จะกลับมาปฏิบัติแล้วได้สมาธิอีก ก็เป็นเรื่องที่ยากกว่าจะได้เท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้สมาธิมีความมั่นคงและสามารถไปได้ถึงฌานสมาบัติครับ ?

ตอบ กระทำอย่างต่อเนื่อง รักษาอารมณ์ปฏิบัติไว้ในทุกอิริยาบถ ส่วนใหญ่พวกเราทำแล้วทิ้ง ในเมื่อทำแล้วทิ้งช่วงเวลาที่ใจสงบจะมีน้อย แต่เวลาฟุ้งซ่านมีมากกว่า ทำให้อกุศลกรรมเข้าได้มากกว่า กำลังใจจึงไม่ทรงตัว โดยเฉพาะเวลานั่งสมาธิ พอลุกแล้วเราทิ้งหมดเลย ไม่มีการประคับประคองรักษาอารมณ์นั้นไว้ 

การเจริญสมาธิภาวนาเหมือนกับว่ายทวนน้ำ เราต้องว่ายอยู่ตลอดเวลา ถ้าปล่อยเมื่อไรก็จะไหลตามน้ำไป ดังนั้น..การปฏิบัติให้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จริงจัง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าหากว่าขาดความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จริงจังแล้ว โอกาสที่สมาธิทรงตัวจะมีน้อยมาก แต่ว่าบุคคลที่เคยทำได้แล้ว ถ้าวางกำลังถูกก็จะทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากว่าวางกำลังใจผิด ไปทำเพราะอยากได้เหมือนเดิม จะกลายเป็นความฟุ้งซ่าน สมาธิก็จะยิ่งทรงตัวยากขึ้น


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕


ที่มา :เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕ - หน้า 8 - กระดานสนทนาวัดท่าขนุน