หน้าเว็บ

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำบุญเพราะอยากรวย...ผิดหรือไม่

ทำบุญเพราะอยากรวยหรือทำบุญเพราะอยากได้บุญ...ผิดมั้ย???



ทำบุญเพราะความอยาก เช่นอยากรวย อยากไปสวรรค์ ทำบุญเพราะอยากได้บุญ หรือทำบุญเพราะอยากไปนิพพาน เหล่านี้ถือว่าเป็น การหลงบุญหรือเป็นการคิดผิดหรือไม่...???
ผมเชื่อว่าคำถามนี้แต่ละคนคงตอบไม่เหมือนกันแน่ เพราะต่างคนก็ต่างความคิด บางท่านอาจบอกว่า ถ้าไม่อยากได้บุญแล้วจะทำบุญไปทำไม อยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ แต่บางท่านอาจจะแย้งว่า ทำบุญไม่ควรหวังในบุญ เพราะมีความอยาก ย่อมเป็นกิเลส จัดเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ.... แล้วท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกันบ้างครับ..

พระพุทธองค์ทรงสอนอย่างไร
คำตอบของคำถามนี้ ผมคิดว่าคงต้องอิงคำสอนของพุทธองค์ในพระไตรปิฎกก่อนนะครับ

พระพุทธองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูรู้แจ้งโลก ทรงทราบว่า คนเรากิเลสหนาบางไม่เท่ากัน หากใครได้อ่านพระไตรปิฎกคงทราบดีว่า เวลาพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธบริษัทมักแสดงธรรมเรื่อง อนุปุพพิกถา ซึ่งประกอบไปด้วย 
  • ทานกถา กล่าวถึงทาน
  • สีลกถา กล่าวถึงศีล
  • สัคคกถา กล่าวถึง สวรรค์
  • กามาทีนวกถา กล่าวถึง โทษแห่งกาม
  • เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึง อานิสงส์แห่งการออกจากกาม

อนุปุพพิกถานั้น เป็นธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อฟอกอัธยาศัยของบุคคลผู้ฟังให้มีความประณีตขึ้นไปโดยลำดับ   ถ้าหากว่าผู้ฟังสามารถที่จะชำระกิเลสของตนให้เบาบางลงได้ ตามที่ทรงแสดงแล้ว ต่อไปก็จะแสดงอริยสัจ ๔ ธรรมะทั้ง ๙ ข้อนี้  จึงเรียกว่า พหุลานุศาสนี  คือพระธรรมที่พระองค์แสดงมากที่สุด เนื่องจากเป็นการค่อย ๆ  ขัดเขลาจิตใจของผู้ฟังไปโดยลำดับ แต่เวลาแสดงจริง ๆ นั้น ไม่จำเป็นแสดงครบหมดทั้ง ๕ ข้อ  ผู้ฟังสามารถจะเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติได้ในระดับใด ก็จะทรงแสดงไปในระดับนั้น

  • ประการแรก  ก็จะทรงแสดงประโยชน์ของการให้ เพื่อขจัดความตระหนี่  ความเห็นแก่ตัวของบุคคลให้เจือจางลงไป บังเกิดมีน้ำใจเผื่อแผ่  เอื้อเฟื้อต่อบุคคลอื่นจนถึงกับพร้อมที่จะเสียสละและบริจาคทาน 
ท่านแสดงว่า  "ทานนี้นี้เป็นต้นเค้าแห่งความสุขทั้งหลาย เป็นมูลแห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งโภคะทั้งปวง เป็นที่ต้านภัย  เป็นคตินำไปข้างหน้าของบุคคลที่ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ ทานเป็นที่พำนักพักพิงอาศัย  ที่ยึดเหนี่ยวอันเสมอเหมือนทานไม่มีทั้งในโลกนี้และในโลกอื่น ดุจสีหบัลลังก์ อันล้วนแล้วด้วยรัตนะ  เป็นที่พำนักอาศัย ดุจเชือกผูกห้อยไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ทานเป็นดุจทาส  เพราะเป็นเครื่องกั้นทุกข์เป็นดุจเกราะของผู้กล้าหาญในสงคราม เป็นเครื่องทำให้อุ่นใจ  เป็นดุจเมืองที่ตกแต่งไว้ดีแล้วเพราะเป็นที่ป้องกัน  เป็นดุจดอกปทุม เพราะไม่เปื้อนมลทิน   คือความตระหนี่เป็นดุจอสรพิษเพราะความตระหนี่เป็นต้น  ไม่อาจเข้าใกล้ เป็นดุจราชสีห์  สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งและเป็นดุจพญาม้าวลาหกเพราะพาให้ถึงภูมิอันเกษม ทานนี้เป็นมรรคาที่เราตถาคตได้ดำเนินมาแล้ว.."

  • จากนั้นก็จะทรงแสดงศีล  เพื่อให้บุคคลตระหนักที่จะควบคุมกาย วาจาของตนให้ประพฤติเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่ทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยต่อหมู่คณะที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ จนถึงพร้อมที่จะยอมรับนับถือบุคคลอื่น และทำตนให้เป็นประโยชน์ เป็นศักดิ์ศรีแก่หมู่คณะ  
ทรงแสดงว่า "ชื่อว่าศีลนี้เป็นที่พำนัก เป็นที่อาศัยที่ต้านภัย เป็นที่ยึดเหนี่ยว  ต้านทาน เป็นที่หลบภัย เป็นคติที่เป็นไปในเบื้องหน้า    ศีลเป็นเชื้อวงศ์ของเราตถาคต ได้บำเพ็ญศีลบารมีในภพนั้น ๆ เป็นอเนกอนันต์  ศีลเป็นที่อาศัย   เป็นที่ตั้งแห่งสมบัติทั้งหลาย  ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น  ไม่มีที่พำนักอาศัยอื่นเสมอเหมือน เครื่องอลังการก็ดี ดอกไม้ก็ดี เครื่องประทินผิวก็ดีที่เสมอเหมือนเครื่องอลังการคือศีล ดอกไม้คือศีล  เครื่องประทินคือศีล หามีไม่ แท้จริง  ชาวเทวโลกย่อมนิยมบูชาท่านผู้ประกอบด้วยศีลอลังการ ทัดดอกศีลโกสุมลูบไล้ประทินคือศีลเสมอไม่รู้เบื่อ และอย่างที่ทรงแสดงว่า  ศีลเป็นอาภรณ์อย่างประเสริฐ ศีลเป็นอาวุธอย่างยอดเยี่ยม ศีลเป็นเกราะอย่างมหัศจรรย์  ศีลอันเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้  เป็นต้น เมื่อบุคคลอาศัยศีลนี้แล้ว ก็ย่อมจะได้สวรรค์.."

  • จากนั้นก็จะแสดงผลดีงามที่เกิดขึ้นจากการให้ทานและการรักษาศีลที่บุคคลจะพึงประสบ  ทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้า   คือการอุบัติบังเกิดในสวรรค์ 

  • และเมื่อบุคคลเห็นชื่นชมเพลิดเพลินกับความสุขในสวรรค์ อัธยาศัยของบุคคลนั้นสามารถที่จะเรียนรู้ปฏิบัติสูงขึ้นไปพระองค์ก็จะแสดงถึงโทษแห่งกาม   คือการที่ใจของบุคคลไปกำหนดรูป  เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ วัตถุกามเหล่านั้น  จะเป็นของมนุษย์หรือของทิพย์ก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของที่มีโทษ ก่อให้เกิดความหมกมุ่น ยึดติด ผ่อนคลายได้ยากสลัดได้ยาก จิตใจจะกำหนัดเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น 

  • แต่เมื่อบุคคลมีความเบื่อหน่ายในกามก็จะแสดงเนกขัมมานิสงส์คือ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม  นี่เป็นหลักที่ทรงแสดงไปตามลำดับดังนี้
จะเห็นว่าแม้พระพุทธองค์ก็ทรงเป็นแบบอย่างในการสอนธรรมะ โดยในเบื้องต้นจะสอนจากที่จิตหยาบๆ ยังอยากมีอยากได้ พระองค์ทรงสอนให้ทำทานรักษาศีลเพื่อให้มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรื่องด้วยสมบัติต่างๆ และสวรรค์สมบัติ จนเมื่อจิตละเอียดขึ้นก็จะสามารถสอนโทษของกามและการละออกจากกามซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดคือ พระนิพพานได้ในที่สุด ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เบื้องต้นเรามาทำบุญเพราะความอยากรวย หรืออยากได้บุญ หรืออยากจะไปเกิดบนสวรรค์ เพราะบรมครูของเราท่านก็สอนมาแบบนี้...


พระอาจารย์เล็ก วัดท่าขนุน ท่านเคยสอนเปรียบเทียบให้ฟังเข้าใจง่ายๆ ว่า "ถ้าทำบุญแล้วไม่อยากได้บุญใครหน้าไหนมันจะไปทำจ๊ะ อันนั้นมันเป็นอารมณ์พระอรหันต์ที่ท่านหมดกิเลสแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาจิตไปยึดเกาะบุญเกาะบาปอีกต่อไป ท่านทำอะไรจิตก็ไม่ปรุงแต่ง เป็นแต่เพียงกิริยาเท่านั้น ทีนี้เรายังไม่ถึงขั้นนั้นจิตยังต้องการเกาะความดีอยู่ คือบุญอันได้แก่ ทาน ศีล ภาวนานั่นเอง เปรียบเหมือนเดินขึ้นบันไดก็ต้องมีราวเกาะคือความดี แต่เมื่อขึ้นไปถึงสุดทางขึ้นแล้ว ก็ไม่ต้องการราวเกาะอีกต่อไป ตอนนั้นค่อยวาง ไม่ใช่ยังไปไม่ถึงแล้ววางราวเกาะ อย่างนี้อีกกี่ชาติจะไปถึงจ๊ะ.."

หลักการทำบุญ

การทำบุญจริงๆ มี 10 วิธีคือ บุญกิริยาวัตถุ 10 ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง แต่จะขอยกตัวอย่างของการทำทานมาหนึ่งตัวอย่าง ปกติผลบุญจากการให้ทานจะมากจะน้อยขึ้นกับองค์ประกอบ 4 อย่างหลักๆ คือ ผู้ให้ทานมีความบริสุทธิ์(แบ่งตามศีล) วัตถุทานมีความบริสุทธิ์  เจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ และสุดท้ายคือ ผู้รับมีความบริสุทธิ์ (เนื้อนาบุญ)

ในที่นี้ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะปัจจัยที่สาม คือ เรื่องของเจตนาในการให้ทาน เพราะเกี่ยวกับหัวข้อที่เขียนในวันนี้



เจตนาของผู้ให้บริสุทธิ์ หากเราให้ทานด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเมตตา ด้วยความปรารถนาดี ทั้งก่อนให้ก็มีความสุขที่จะได้ให้ ขณะให้ก็มีความสุขใจ และหลังจากให้แล้วเมื่อนึกถึงที่ได้ทำไปก็รู้สึกสุขใจ จิตจะตั้งอยู่บนความเบิกบานแจ่มใส เราย่อมได้รับผลบุญสูงกว่าให้โดยหวังผลประโยชน์บางอย่างตอบแทน ให้เพราะอยากได้หน้า ให้ไปแล้วรู้สึกเสียดายทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้ไปแล้ว จิตของเราจะตั้งอยู่บนความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ผลบุญย่อมลดลง เรื่องของเจตนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากและสร้างความแตกต่างในบุญได้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ เจตนาที่ไม่ค่อยบริสุทธิ์กับเจตนาที่บริสุทธิ์มากๆ จะสามารถให้ผลบุญที่แตกต่างกันเป็นล้านๆ เท่า
ใน ทานสูตร จากพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 ข้อที่ 49 พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระสารีบุตรไว้สรุปใจความได้ดังนี้
  • ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช
  • ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์
  • บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา
  • บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต
  • บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี
  • บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
  • บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม
ดังนั้นในการให้ทาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราควรทำจิตทำใจในการให้ทาน คือ ให้เพื่อละความตระหนี่ในใจ ให้เพื่อละกิเลสคือความตระหนี่ ให้เพราะต้องการสงเคราะห์และให้เพื่อดำรงพระพุทธศาสนาให้ครบห้าพันปี ไม่ใช่ให้ทานเพราะหวังรวย อย่างนี้ได้อานิสงส์น้อย (อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้ว่าเจตนาในการให้ทานของเราจะให้เพื่อละกิเลสคือละความตระหนี่ ไม่ได้ต้องการรวย แต่ผลแห่งทานย่อมทำให้เราบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ในภายภาคหน้า แม้ว่าจะต้องการหรือไม่ก็ตาม เปรียบเสมือนบุคคลหว่านเมล็ดข้าวลงไปในนาแล้ว ไม่ว่าจะอยากได้หรือไม่ได้ผลข้าว แต่สุดท้ายเมื่อข้าวเติบโตขึ้น ย่อมได้ผลแห่งข้าวนั้นนั่นเอง)

****************************
สรุปว่า ไม่ว่าเราจะทำบุญเพราะหวังรวย หรืออยากไปสวรรค์ หรืออยากแก้กรรม หรือเพราะอยากได้บุญเพื่อพระนิพพานหรืออะไรก็แล้วแต่ เวลาทำบุญให้เก็บความอยากเอาไว้ แล้วตั้งจิตให้ได้กุศลสูงสุดคือ ทานหรือบุญที่เราทำนี้หวังเพียงละกิเลสคือความโลภในใจเรา เป็นการให้ทานเพื่อการสงเคราะห์ผู้อื่นและเพื่อให้เป็นปัจจัยให้ได้เข้าถึงพระนิพพานเป็นที่สุด..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น