หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

บูชาพระของหลวงปู่เณรคำมา จะทำอย่างไรกับพระนั้นดี ?



ถาม : หนูไปบูชาพระของหลวงปู่เณรคำมา จะทำอย่างไรกับพระนั้นดีคะ ?

ตอบ : บูชาไว้สิจ๊ะ พระก็คือพระ..! คำว่า พระ แปลว่า ดีเลิศประเสริฐศรีอยู่แล้ว เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่าไปนึกถึงเณรคำสิ..! แค่นี้ก็กำลังใจตก ถ้าเป็นสมัยโบราณออกศึกก็กลายเป็นศพถมสนามไปนานแล้ว สมัยโบราณเขามีแค่ว่านยา เขายังรอดมาไม่รู้ตั้งกี่สนาม เพราะใจเขายึดมั่น ส่วนเราขนาดเป็นพระแท้ๆ หมดความนับถือ กำลังใจไม่ยึดมั่น แล้วจะไปปลอดภัยอีท่าไหน ?

เรื่องของตัวบุคคล เราอาจจะยึดผิด ฉะนั้น..ท่าน ถึงให้ยึดหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในส่วนที่เป็นนามธรรม คือคุณความดีของท่าน ไหว้เมื่อไรก็ถึงเมื่อนั้น ไม่ว่าเณรคำหรืออาตมาก็เหมือนกันนั่นแหละ เป็นแค่รูปแค่นามแค่ธาตุ ๔ เหมือนกัน ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังเหมือนกัน

ถ้าเรายึดผิด พูดง่ายๆ ว่าวางกำลังใจผิดเอง ถ้า จะยึดจริงๆ ยึดความดี พระสงฆ์ท่านเป็นสุปฏิปันโน...ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน...ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน...ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม สามีจิปฏิปันโน...ปฏิบัติชอบแล้ว พระพุทธเจ้า ท่านถึงสอนไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ใช่ใครเขาว่าอะไรที่ไหนดี เราก็ตื่นไปโดยที่ไม่ได้พิจารณา ถึงเวลาเราเองพอเห็นว่าไม่ดีจริง ก็เสียกำลังใจอีก ถ้าตอนกำลังใจตก กำลังเศร้าหมองอยู่ เกิดตายตอนนั้นก็ซวยอีก ถ้าเรายึดในคุณพระรัตนตรัยที่เป็นพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณจริงๆ อย่างไรก็ไม่พลาดอยู่แล้ว

เมื่อวานนี้มีโยมมาถามว่า ถ้าอยู่ในที่เลือกเนื้อนาบุญไม่ได้ ก็ทำบุญไม่ได้เลยสิ ? อาตมาบอกว่า ถ้าโง่ก็ทำบุญไม่ได้ ถ้าฉลาดก็ ถวายเป็นสังฆทาน ต่อให้เป็น อาจารย์นิกร อาจารย์ยันตระ ท่านภาวนาพุทโธ หรือเณรคำ มานั่งรับสังฆทานพร้อมกันก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราตั้งใจเป็นสังฆทาน คนรับเป็นเพียงตัวแทนสงฆ์ อานิสงส์ของเราได้เต็มร้อยอยู่แล้ว

ใน ปฐมสมโพธิกถา อันตรธานปริวรรต กล่าว ถึงการเสื่อมสูญของพระศาสนา ว่าช่วงท้ายก่อน ๕,๐๐๐ ปีเล็กน้อย เพศพระจะหายไป เหลือเพียงผ้าเหลืองพันข้อมือ หรือผ้าเหลืองคล้องคอไว้นิดหนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ให้ไปดูที่ประเทศญี่ปุ่น พระญี่ปุ่นใส่ชุดสากล มีแถบติดคออยู่หน่อยให้รู้ว่าเป็นพระเท่านั้น ท่านบอกว่าต่อให้เพศพระเสื่อมไปถึงขนาดนั้นก็ตาม ถ้าถวายเป็นสังฆทานตั้งใจอุทิศเฉพาะเจาะจงแก่สงฆ์ ก็มีอานิสงส์เท่ากัน เณรคำเขายังห่มจีวรอยู่เต็มผืน ถวายไปเถอะ..!

สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
ณ บ้านวิริยบารมี ต้นเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


ที่มา : http://www.watthakhanun.com/webboard...?t=3835&page=4

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การฝึกวิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณ / หลวงพ่อฤาษีลิงดำ



เริ่มเจริญวิปัสสนา 

การเจริญวิปัสสนา ต้องเจริญเพื่อมรรคผล อย่างแบบคิดว่า พอเป็นอุปนิสัยเท่านั้น การปฏิบัติแบบคิดว่าพอเป็นนิสัย ไม่ควรมีในหมู่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นการดูแคลนพระพุทธศาสนาเกินไป พูดกันตรง ๆ ก็ว่า ไม่มีความเชื่อถือจริง และไม่ใช่นักปฏิบัติจริง ปฏิบัติตามเขาพอได้ชื่อว่าฉันก็ปฏิบัติวิปัสสนาคนประเภทนี้แหละที่ทำให้พระพุทธศาสนา เสื่อมโทรม เพราะทำไปไม่นานก็เลิกแล้วก็เอาความไม่จริงไม่จังของตนเองนี่แหละไป โฆษณา บอกว่าฉันปฏิบัตินานแล้วไม่เห็นมีอะไรปรากฏเป็นการทำลายพระศาสนาโดยตรง ฉะนั้น นักปฏิบัติแล้วควรตั้งใจจริงเพื่อมรรคผล ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริงก็อย่าเข้ามายุ่ง ทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย ต่อไปนี้จะพูดถึงนักปฏิบัติที่เอาจริง 

ก่อนพิจารณาวิปัสสนา 

ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนา ท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อนเข้าฌานให้ถึงที่สุดของสมาธิ ถ้าเป็นฌานที่ ๔ ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิ ๆ ไม่ถึงฌาน ๔ ก็ให้เข้าฌานจนเต็มกำลังสมาธิที่ได้เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้วค่อยๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้น อย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้น ๆ นั้น จะเกิดเป็นอารมณ์ ประจำใจไม่หวั่นไหว เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้ว จึงค่อยเลื่อนไปฌาน ต่อไปเป็น ลำดับ ทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกันทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการ ทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริง ต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้ 

ธรรมเครื่องบำรุงวิปัสสนาญาณ 

นักเจริญวิปัสสนาญาณที่หวังผลจริง ไม่ใช่นักวิปัสสนาทำเพื่อโฆษณาตัวเองแล้ว ท่านว่าต้องเป็นผู้ปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนด้วย ถ้าบารมี ๑๐ ยังไม่ครบถ้วนเพียงใด ผลในการเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีผลสมบูรณ์ บารมี ๑๐ นั้นมีดังต่อไปนี้
  1. ทาน คือการให้ ต้องมีอารมณ์ใคร่ต่อการให้ทานเป็นปกติ ให้เพื่อ สงเคราะห์ ไม่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้ไม่เลือกเพศ วัย ฐานะ และความสมบูรณ์ เต็มใจในการให้ทาน เป็นปกติ ไม่มีอารมณ์ไหวหวั่นในการให้ทาน
  2. ศีล รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ศีลไม่บกพร่อง และรักษาแบบอุกฤษฏ์ คือ ไม่ทำศีล ให้ขาดหรือด่างพร้อยเอง ไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่น ละเมิดศีลไม่ดีใจเมื่อ คนอื่นละเมิดศีล
  3. เนกขัมมะ การถือบวช คือถือพรหมจรรย์ ถ้าเป็นนักบวช ก็ต้องถือ สิกขาบท อย่างเคร่งครัดถ้าเป็นฆราวาส ต้องเคร่งครัดในการระงับอารมณ์ทีเป็นที่เป็นทางของนิวรณ์ ๕ คือทรงฌานเป็นปกติ อย่างต่ำก็ก็ปฐมฌาน
  4. ปัญญา มีความคิดรู้เท่าทันสภาวะของกฎธรรมดา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปกติ
  5. วิริยะ มีความเพียรเป็นปกติ ไม่ท้อถอยในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล
  6. ขันติ อดทนต่อความยากลำบาก ในการฝืนใจระงับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อดกลั้น ไม่หวั่นไหว จนมีอารมณ์อดกลั้นเป็นปกติ ไม่หนักใจเมื่อต้องอดทน
  7. สัจจะ มีความจริงใจ ไม่ละทิ้งกิจการงานในการปฏิบัติความดีเพื่อมรรคผล
  8. อธิษฐาน ความตั้งใจ ความตั้งใจใด ๆ ที่ตั้งใจไว้ เช่น สมัยที่สมเด็จพระผู้มี พระภาคเจ้าพระองค์เข้าไปนั่งที่โคนต้นโพธิ์ พระองค์ทรง อธิษฐานว่า ถ้าเราไม่ได้สำเร็จ พระโพธิญาณเพียงใดเราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้ แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปหรือชีวิต จะตักษัย คือสิ้นลมปราณก็ตามทีพระองค์ทรงอธิษฐานเอาชีวิตเข้าแลกแล้วพระองค์ก็ทรง บรรลุในคืนนั้น การปฏิบัติต้องมีความมั่นใจอย่างนี้ ถ้าลงเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว สำเร็จ ทุกราย และไม่ยากเสียด้วย ใช้เวลาก็ไม่นาน
  9. เมตตา มีความเมตตาปรานีไม่เลือก คน สัตว์ ฐานะ ชาติ ตระกูล มีอารมณ์เป็น เมตตาตลอดวันคืนเป็นปกติ ไม่ใช่บางวันดี บางวันร้ายอย่างนี้ไม่มีหวัง
  10. อุเบกขา ความวางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกใจ และอารมณ์ที่ขัดใจ อารมณ์ที่ถูกใจ รับแล้วก็ทราบว่าไม่ช้าอาการอย่างนี้ก็หมดไปไม่มีอะไรน่ายึดถือพบอารมณ์ที่ขัดใจก็ปลงตก ว่า เรื่องอย่างนี้มันธรรมดาของโลกแท้ๆ เฉยได้ทั้งสองอย่าง
บารมี ๑๐ นี้ มีความสำคัญมากถ้า นักปฏิบัติบกพร่องในบารมี ๑๐ นี้ แม้อย่างเดียว วิปัสสนาญาณก็มีผลสมบูรณ์ไม่ได้ ที่ว่าเจริญกันมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่ได้อะไรนั้น ก็เพราะเป็น ผู้บกพร่องในบารมี ๑๐ นี่เอง ถ้าบารมี ๑๐ ครบถ้วนแล้ว ผลการปฏิบัติเขานับวันสำเร็จกัน ไม่ใช่นับเดือนนับปี ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลต้องสนใจปฏิบัติในบารมี ๑๐ นี้ ไม่ให้ บกพร่องเป็นกรณีพิเศษ

วิปัสสนาญาณสามนัย 

วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ
  1. พิจารณาตารมแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามนัยวิสุทธิมรรค ที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ รจนาไว้
  2. พิจารณาตามนัยอริยสัจ ๔
  3. พิจารณาขันธ์ ๕ ตามในพระไตรปิฎก ที่มีมาในขันธวรรค

ทั้งสามนัยนี้ ความจริงก็มีอรรถ คือความหมายเป็นอันเดียวกัน โดยท่านให้เห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน เพราะบางท่านชอบค่อยทำไปตามลำดับ ตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ เพราะเป็นการค่อยปลด ค่อย เปลื้องตามลำดับทีละน้อย ไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาแบบรวม ๆ ใน ขันธ์ ๕ เพราะเป็นการสะดวกเหมาะแก่อารมณ์ บางท่านที่ชอบพิจารณาตามแบบอริยสัจนี้ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเอง และนำมาสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผล เป็นปฐม ก็เพราะได้ฟังอริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือให้เห็น อนัตตาในขันธ์ ๕ เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคและในขันธวรรค ในพระไตรปิฎก ว่าผู้ใดเห็นขันธ์ ๕ ผู้นั้นก็เห็นอริยสัจ ผู้ใดเห็นอริยสัจก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ ๕ 

เอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์ 

นักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้น ท่านคอยเอาสังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ว่า เราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั้นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่า เราเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง 

สังโยชน์ ๑๐ 

สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมอยู่ในวัฏฏะมี ๑๐ อย่างคือ
  1. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
  2. วิจิกิจฉา สงสัยในผลการปฏิบัติว่า จะไม่ได้ผลจริงตามที่ฟังมา
  3. สีลัพพตปรามาส ถือศีลไม่จริงไม่จัง สักแต่ถือตาม ๆ เขาไปอย่างนั้นเอง สามข้อ นี้ ถ้าตัดได้เด็ดขาด ท่านว่าได้บรรลุเป็นพระโสดา กับพระสกิทาคามี
  4. กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และอาการ ถูกต้องสัมผัส
  5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ทำให้ไม่พอใจ อันนี้เป็นโทสะแบบเบาๆ ข้อ (๑) ถึง (๕) นี้ ถ้าละได้เด็ดขาด ท่านว่าบรรลุเป็นอนาคามี
  6. รูปราคะ พอใจในรูปธรรม คือความพอใจในวัตถุ หรือ รูปฌาน
  7. อรูปราคะ พอใจในอรูป คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือ ในอรูปฌาน
  8. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
  9. มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา
  10. อวิชชา ความโง่ คือหลงพอใจในกามคุณ ๕ และกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ที่ ท่านเรียกว่า อุปาทาน เป็นคุณธรรมฝ่ายทราม ที่ท่านเรียกว่า อวิชชา
สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ๆ ปลดอารมณ์ที่ยึดถือได้ครบ ๑๐ อย่าง โดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่าท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผลเครื่องวัด อารมณ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสจำกัดไว้อย่างนี้ ขอนักปฏิบัติจงศึกษาไว้ แล้วพิจารณาไปตามแบบ ท่านสอนเอาอารมณ์มาเปรียบกับสังโยชน์ ๑๐ ทางที่ดีควรคิดเอาชนะกิเลสคราวละข้อ เอาชนะ ให้เด็ดขาด แล้วค่อยเลื่อนเข้าไปทีละข้อ ข้อต้น ๆ ถ้าเอาชนะไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเลื่อนเข้าไปหา ข้ออื่น ทำอย่างนี้ได้ผลเร็ว เพราะข้อต้นหมอบแล้ว ข้อต่อไปไม่ยากเลย จะชนะหรือไม่ชนะ ก็ข้อต้นนี้แหละ เพราะเป็นของใหม่และมีกำลังครบถ้วนที่จะต่อต้านเรา ถ้าด่านหน้าแตก ด่านต่อไปง่ายเกินคิด ขอให้ข้อคิดไว้เพียงเท่านี้ ต่อไปจะนำเอาวิปัสสนาญาณสามนัยมากล่าว ไว้พอเป็นแนวปฏิบัติพิจารณา

วิปัสสนาญาณ ๙ 

๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ 

๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ 

๓. ภยตูปัฎฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว 

๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร 

๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย 

๖. มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย 

๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร 

๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร 

๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้น เพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ 

ญาณทั้ง ๙ นี้ ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึง ญาณที่ ๘ เท่านั้น ส่วนญาณ ที่ ๙ นั้น เป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณามาครบ ๘ ญาณแล้ว ต่อไปให้พิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไปตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๘ แล้วพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ ๘ ย้อนมาหาญาณที่ ๑ จนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ทุก ๆ ญาณและจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณ คือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อนก็ ไม่มีความทุกข์ ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภ ความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่าครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้เป็นต้น คำว่าครอบงำหมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตายไม่หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดาโกรธทำไม แล้วอารมณ์โกรธก็หายไปนอกจากระงับ ความหวั่นไหวที่เคยเกิดเคยหวั่นไหวได้แล้ว จิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด สามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ทุกขณะมีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติ คล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวเพิ่งแรกรักกัน จะนั่ง นอน ยืน เดินทำกิจการงานอยู่ก็ตามจิตก็ยังอดที่จะคิดถึงคนรักอยู่ด้วยไม่ได้ บางรายเผลอถึงกับเรียกชื่อคนรัก ขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะเรียกทั้งนี้เพราะจิตมีความผูกพันมาก คนรักมีอารมณ์ ผูกพันฉันใด ท่านที่มีอารมณ์เข้าสู่โคตรภูญาณก็มีความใฝ่ฝันถึงพระนิพพานเช่นเดียวกัน หลังจากเข้าสู่โคตรภูญาณเต็มขั้นแล้ว จิตก็ตัดสังโยชน์ ๓ เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน คือตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบอีก ท่านเรียกว่าได้อริยมรรคต้นคือเป็นพระโสดาบัน ต่อไปนี้ จะได้ อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นลำดับไปเป็นข้อ ๆ 

๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ 

ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่า สังขาร หมายถึง สิ่งที่เป็นร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญาณและวัตถุ ท่านให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลย พยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคน ที่เกิดแล้วตาย ของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รัก ของที่มีชีวิตและไม่มีคิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลายอย่างนี้ และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหว ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้น พิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา เห็นอะไรก็ตาม แม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลาย แม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณ อะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาล ไม่มีรักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้ จนอารมณ์ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณ ที่สอง จงอย่าลืมว่า ก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ว วิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่า นั่งนึกนอนนึก แล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้ อะไรเลย จงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้ม ข้าวต้ม จะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก 

๒. ภังคานุปัสสนาญาณ 

ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิด และความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติ ทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คน สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตาม ความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และ ค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจาก เป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสว กลายเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัว ทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณา ให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไร มันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็ เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อย ๆ สลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา 

รวมความว่า ความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่าจะถึงที่สุดก็ค่อย ๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับ เลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหว เพราะเข้าใจและคิดอยู่ รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ 

๓. ภยตูปัฏฐานญาณ 

ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะสังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้ จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขาร เมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรค มีโรคภัยนานา ชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มี โรคหิวก็รบกวน ตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้ว กินนอกบ้านก็แล้ว อาหาร ราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิว ถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของ มันฉะนั้น โรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลี ว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็ เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจาก ภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ ในที่สุดก็ถึงความแตกดับ ก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควร จะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป 

๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวมกับ ญาณที่ ๓ เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้อนี้จึง ไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ ๓ เป็นเครื่องพิจารณา


๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ 

ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้ว ดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลา หรือจะว่า ทุกลมหายใจเข้า ออกก็ไม่ผิด นี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัย เพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติ และ ทำลายในที่สุดประการหนึ่ง สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง ฉะนั้นสังขาร นี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญา ความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติธาตุ ๔ มาร่วมพิจารณาด้วย จะเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน เพราะกรรมฐานที่กล่าวแล้ว นั้นเราพิจารณาในรูปสมถะอยู่แล้ว และเห็นเหตุผลอยู่แล้ว เอามาร่วมด้วยจะได้ผลรวดเร็ว และชัดเจนแจ่มใสมาก เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีวันที่จะเห็นว่าน่ารัก ได้เลย 

๖. มุญจิตุกัมมยตาญาณ 

ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้ว จากญาณต้น ๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติ เป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะโรคภัยไข้เจ็บจนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะหาความเที่ยง ความแน่นอนไม่ได้ ท่าน ให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มี สังขารแล้ว ความทุกข์ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลย การที่หาทางเบื่อหน่าย ท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้
  1. ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย เป็นต้น มีขึ้นได้เพราะชาติ คือ ความเกิด
  2. ชาติ ความเกิดมีได้เพราะ ภพ คือความเป็นอยู่
  3. ภพ คือภาวะความเป็นอยู่ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อุปาทาน ความยึดมั่น
  4. อุปาทาน ความยึดมั่นมีขึ้นได้ เพราะอาศัย ตัณหา คือความทะยานอยาก คือ อยากมี อยากเป็น อยากปฏิเสธ
  5. ตัณหา มีได้ เพราะอาศัย เวทนา คือ อารมณ์ที่รู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ
  6. เวทนา มีขึ้นได้ เพราะอาศัย ผัสสะ คือ การกระทบกระทั่ง
  7. ผัสสะ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อายตนะ ๖ คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจ
  8. อายตนะ ๖ มีขึ้นได้เพราะอาศัย นามและรูป คือ ขันธ์ ๕ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา คือ ร่างกายเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม ท่านรวมเรียกทั้งรูปทั้ง นามว่า นามรูป
  9. นามรูป มีขึ้นได้เพราะอาศัย วิญญาณปฏิสนธิ คือ เข้ามาเกิด วิญญาณ ในที่นี้ท่านหมายเอาจิต ไม่ได้หมายเอาวิญญาณในขันธ์ ๕
  10. วิญญาณ มีขึ้นได้เพราะ มีสังขาร
  11. สังขาร มีได้เพราะอาศัย อวิชชา คือ ความโง่เขลาหลงงมงาย มีความรัก ความพอใจในโลกวิสัยเป็นเหตุ

รวมความแล้ว ความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้น จนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชา ความโง่เป็นสมุฏฐาน ฉะนั้น การที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออก ด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอนจึงจะพ้นสังขาร นี้ได้ 

๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ 

พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัด เพราะมีอาการ ซ้อน ๆ กันอยู่ ควรเอา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา 

๘. สังขารุเปกขาญาณ 

ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือ ร่างกายของตนเองและสังขารภายนอก คือร่างกายของคน และ สัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณ ที่ต้องได้รับเคราะห์กรรม มีทุกข์ มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่า ธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิต สบายเป็นปกติ ไม่มีความหวั่นไหว เสียใจ น้อยใจเกิดขึ้น 

๙. สัจจานุโลมิกญาณ 

พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่า สังขารที่เป็นแดน ของความทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่า สังขารมีทุกข์ประจำ เป็นปกติ ไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่า เห็นทุกขสัจจะเป็นอริยสัจที่ ๑ 

พิจารณาเห็นว่า ทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัย ตัณหา ความทะยานอยาก ๓ ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ ไม่เคยเป็น อยากปฏิเสธ ในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยาก ทั้ง ๓ นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับ คือนิโรธเสียได้ จุดดับนั้นท่านวางมาตรฐานไว้ ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียกว่า มรรค ๘ ย่อมรรค ๘ ลงเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิ เป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และดับอารมณ์พอใจไม่พอใจ เสียได้ ตัดอารมณ์ใจในโลกวิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสีย ได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ ๔ ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่อง จนจิต ครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ ชื่อว่าท่านได้ วิปัสสนาญาณ ๙ และอริยสัจ ๔ แต่อย่าเพ่อพอ หรือคิดว่าดีแล้ว ต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไป จนตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการได้แล้ว นั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว

ขอขอบคุณที่มา : เวบพลังจิต

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เราสามารถเปลี่ยนกฏแห่งกรรมได้หรือไม่..

กรรมของเรา เราสามารถกำหนดเองได้



ถาม : ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลของกรรมทั้งดีและร้ายในอดีต แล้วจะมีช่องว่างให้เราทำกรรมใหม่ในปัจจุบัน ที่เป็นการตัดสินใจของเราเองอย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่ผลของกรรมในอดีตบ้างไหมคะ ?

ตอบ : มีเต็มร้อย..แต่จังหวะนั้นมีน้อย ต้องรอจังหวะที่วาระบุญวาระกรรมขาดช่วงลงพอดี ซึ่งถ้าไม่ใช่บุคคลที่ฝึกใน ยถากัมมุตาญาณ มาจนคล่องตัวจะไม่รู้ถึงจังหวะนี้ 

ถาม : ถ้าเกิดไม่ทราบในยถากัมมุตาญาณจะทำอย่างไรครับ หรือทำดีไว้ก่อน ?

ตอบ : ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

ถาม : สาเหตุที่ถามเพราะคุณพ่อชอบบอกว่า ที่เป็นอย่างนั้นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำหนดไว้หมดแล้ว เราเป็นเหมือนตัวละครเล่นตามบทไป แม้กระทั่งความคิดที่จะทำดีหรือทำชั่ว ก็เพราะผลของกรรมเก่ากำหนดให้ทำอย่างนั้น ก็เลยอยากจะหาผู้มีความรู้มาอธิบายว่า กรรมเราเองเราน่าจะเป็นคนกำหนด แต่ไม่แน่ใจว่าเราเล่นตามบทที่กำหนด กรรมเขากำหนดไว้อย่างเดียว หรือเราในปัจจุบันมีโอกาสเขียนบทใหม่ๆ ให้กับตัวเอง เพื่อกำหนดผลต่อไปบ้างไหม ?

ตอบ : เขียนบทเองได้เลย ไม่มีปัญหา ถ้าเขียนบทได้ยาวนานพอผลดีก็จะเกิดกับเราเอง แต่เท่าที่ฟังมาอย่าเอาคำตอบนี้ไปเถียงพ่อให้เสียเวลา ท่านไม่ฟังหรอก

ถาม : เราสามารถที่จะเลือกทำได้ ไม่ใช่กรรมกำหนดอย่างเดียว ? 

ตอบ : ทำได้..อาตมาเองฝืนกรรมมาหลายยกแล้ว ถ้าไม่ฝืนป่านนี้ก็มีหลานแล้ว ไม่ใช่แค่มีลูกเฉยๆ..!


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
ณ บ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๖


ที่มา : เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๖ - กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิธีการหนีกรรม

วิธีการหนีกรรม


     ถาม :  ถ้าการปฏิบัติธรรมที่เราคิดจะหนีกรรม ทีนี้ถ้าสามารถปฏิบัติได้ถึงให้เข้าสู่พระนิพพานแล้วนี่ แสดงว่ากรรมนั้นไม่ได้ถูกชดใช้เลยใช่มั้ยคะ ? 
     ตอบ :  ไม่ได้ใช้เลยเขาเรียก อโหสิกรรม คือต้องขาดกันไปโดยอัตโนมัติเลย เพราะอีกผู้หนึ่งบริสุทธิ์จนกระทั่งพ้นเขตของกรรมไปแล้ว กรรมไม่สามารถส่งผลให้ได้เขาเรียก “อโหสิกรรม” คราวนี้ว่าการปฏิบัติเพื่อหนีกรรมนี่ ถ้าเรามั่นคงในทาน ศีล ภาวนาจริง ๆ กฎของกรรมตามได้ไม่เกิน ๒๕% อันนี้หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกไว้เองนะ เพราะฉะนั้นโดยเฉพาะตัวภาวนาทำให้มากเข้าไว้ กำลังยิ่งสูงเท่าไหร่ บุญก็จะส่งให้เราห่างกรรมออกไปมากเท่านั้น 
      ถาม :  การปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา ตรงนี้ปฏิบัติได้ยังไงบ้างเจ้าคะ ? 
      ตอบ :  ทาน ศีล ภาวนา ทานอยากจะให้อะไรบ้างล่ะ ....(หัวเราะ) ทานก็เริ่มดู ก็จะมีวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน เลือกเอา แล้วก็ศีล ๆ อันนี้ก็คือรักษาตัวเองอย่าให้ศีลขาด เมื่อศีลไม่ขาดแล้วก็อย่ายุให้คนอื่นทำด้วย แล้วก็เห็นคนอื่นทำก็อย่ายินดีด้วย ส่วนของการภาวนาก็ว่าไปเลยอย่างน้อย ๆ ให้ได้ปฐมฌานเอาไว้ ถ้าสามารถทรงฌานไว้แล้วไม่ทิ้งทำอยู่ประจำ ๆ นี่ตัวกรรมมันจากหนักมันก็เป็นเบา คือมันจะตามเล่นงานเราได้ยากขึ้น เพราะกำลังเราสูงซะแล้ว 
      ถาม :  คนที่ปฏิบัติที่มีการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลานี่ ....(ไม่ชัด)...จะมากกว่าคนทั่วไปใช่มั้ยคะ ? 
      ตอบ :  ก็ไม่แน่เหมือนกันปฏิบัติอยู่ตลอดเวลานี่แต่ฟุ้งซ่านก็ไม่เอาไหนอยู่นะจ๊ะ ท่านหมายความว่ากำลังใจของเขาถ้าต้องมุ่งตรงแล้วต้องเป็นหนึ่งแล้ว ลักษณะเหมือนท่อน้ำท่อหนึ่ง ถ้าหากว่ามันแตกแขนงออกมากมายเท่าไหร่ก็ตาม กำลังน้ำที่มันจะมุ่งตรงไปมันก็เบาลงเท่านั้น ใช้งานได้ยาก 
              แต่ถ้าเราปิดท่อที่แตกแขนงออกไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กำลังน้ำมันก็จะแรงขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเต็มกำลังของมันลักษณะเดียวกับเราสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้เป็นต้น ถ้าหากว่าไม่เปิดช่องให้มันแลบออกไปข้างนอกได้ กำลังมันรวมตัว พอการตัดกิเลสต่าง ๆ มันก็ง่ายขึ้น 
      ถาม :  อย่างนี้พูดง่าย ๆ คือการรักษาให้มั่นคงใช่มั้ยคะ ? 
      ตอบ :  จ้ะ รักษาให้มั่นคงมันไม่ยาก มันยากตรงทำให้ต่อเนื่อง เพราะว่ากำลังใจของเราอย่างฌานโลกีย์พอเรารวมกำลังใจได้มันก็มั่นคง ทรงฌาน ๔ ก็ทรงเป๋งเลย 
              แต่ทำอย่างไรที่เราจะรักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่องยาวนานได้ตรงนี้สำคัญกว่า ส่วนใหญ่พวกเราจะประสบปัญหาก็คือว่า พอเลิกภาวนาก็เลิกเลยมันใช้ไม่ได้ เพราะว่าอันนั้นมันจะเท่ากับว่าหากินทีละมื้อ ตำข้าวสารกรอกหม้อเฉย ๆ พอเราลุกขึ้นต้องรักษาอารมณ์ตอนนั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพื่อให้จิตมันชินกับการที่กิเลสหรือว่านิวรณ์โดนกดเอาไว้ก่อน จนกว่าเราจะละมันได้เอง ถ้าเรากดมันไว้จนชินมันมีสิทธิ์ที่จะบรรลุมรรคผลได้เรียกว่า บรรลุโดยเจโตวิมุติ คือใช้กำลังใจข่มเอาไว้ 
              เขาเปรียบเหมือนเอาหินทับหญ้าทับนาน ๆ เข้าหญ้ามันตายไปเอง เพราะเราเองต้องพยายามทับหญ้ามันไว้ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่เราทำได้ ไม่ใช่ลุกขึ้นแล้วเลิกเลยนะ 
              ตัวรักษาอารมณ์ต่อเนื่องสำคัญที่สุดในการปฏิบัติ จะก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าอยู่ตรงนี้แหละ ถ้าเราไม่รักษาให้ต่อเนื่องไม่หมั่นพิจารณาดูว่า เหตุอะไรที่ทำให้ใจของเราสบายแล้วทำเหตุนั้น เหตุอะไรที่ทำให้ใจเราไม่สบายแล้วละเหตุนั้นเสีย ถ้าเราไม่รู้จักเลือกหาตรงจุดนี้แล้วรักษาอารมณ์เราให้ต่อเนื่องในด้านดีเอาไว้ มันจะก้าวหน้าลำบาก จะสงสัยว่า เอ๊ะ ! ทำเท่าไหร่ ๆ มันก็ได้แค่นั้น ก็เราทำแค่นั้นมันไม่ทำให้เยอะกว่านั้นนี่ 
      ถาม :  เรียกว่าล้มเหลวได้มั้ยคะ ? 
      ตอบ :  จะเรียกว่าล้มเหลวก็ได้ แต่จริง ๆ มันยังได้อยู่คือ ได้ทำ (หัวเราะ) ได้ทำนี่เหนื่อย แต่งานมันได้น้อย
ถาม :  อยู่ตามที่ทำงานแล้วมันบากค่ะ 
      ตอบ :  ลำบากนั่นไม่มีปัญหา เราไปแค่กรอบของศีลบ้าตามเขาได้ทุกเรื่องเลย คนที่บ้าอย่างมีสติมันทำได้ดีกว่าเขานะ มันก็เหมือนกับคนเมาดิบ คนเมาดิบนี่ท่ามันหนักกว่าคนเมาจริงเยอะเลย เสียงก็ดังกว่าเขา เราอาศัยศีลเป็นกรอบเราไปแค่กรอบของศีล ไปอย่างมีสติ เพราะฉะนั้นเวลาเราบ้าตามคนอื่นเขา มันจะสนุกกว่ามากเรียกว่าบ้าอย่างมีสติ คนอื่นเขาบ้าเพราะขาดสติ 
      ถาม :  อย่างมีเทคนิคหรือว่าเคล็ดลับจริง ๆ นี่ระหว่างทาน ศีล กับภาวนา ตัวไหนคะที่เข้าถึงนิพพานได้ง่ายที่สุด ? 
      ตอบ :  ๓ อย่างต้องรวมกัน ถ้าหากว่าจะนับจริง ๆ ก็คือตัวภาวนา ๆ จะทำให้เข้านิพพานได้ แต่ว่ามันจะต้องมีกำลังของทานกับศีลมาหนุนเสริมอยู่ เขาเปรียบอานิสงส์เอาไว้ว่า ทานนั้นเกิดมาจะรวย ศีลนั้นเกิดมาจะรูปสวย มีจิตใจดีงาม ภาวนาเกิดมาจะมีปัญญาฉลาด คนฉลาดแต่จนมันก็แย่ใช่มั้ย ? ส่วนคนรวยไม่มีปัญญา รักษาทรัพย์ไม่อยู่ เพราะฉะนั้นมันต้องทำเหมือน ๆ กันทำในลักษณะที่ว่าทำให้มันเสมอ ๆ กัน ในเมื่อทำสม่ำเสมอกันต่อไปอานิสงส์ที่มันควรได้มันก็ได้ด้วยกันทั้งหมด ประเภทที่ว่ากันเอาไว้ก่อนเผื่อต้องเกิดใหม่ก็คือเกิดให้มันสมบูรณ์ไป ถ้ามันไม่ต้องเกิดใหม่อาศัยกำลังตัวนี้ส่งเราเข้านิพพาน 
      ถาม :  ถ้ายังไม่สามารถฝึกปฏิบัติให้เห็นพระนิพพานได้แต่ตั้งใจไว้สามารถ....? 
      ตอบ :  สามารถไปนิพพานได้เหมือนกัน กติกาของการไปนิพพานก็คือ 
              ๑. เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้นจริงจังไม่ปรามาสทั้งต่อหน้าและลับหลัง 
              ๒. รักษาศีลอย่างน้อย ๕ ข้อให้บริสุทธิ์ 
              ๓. ตั้งใจว่าตายแล้วจะไปนิพพาน มีข้อไหนบอกว่าต้องได้ฤทธิ์ได้อภิญญา ต้องเห็นนรกเห็นสวรรค์บ้างมั้ย ? ไม่มีนะ สิ่งที่เห็นสำหรับคนขี้สงสัยจะได้แก้สงสัยว่ามีจริงหรือเปล่า ? แล้วถ้าหากว่ามัวแต่แก้สงสัยมัวแต่ไปทำอยู่ ตายตอนนั้นผลประโยชน์ที่ควรจะได้เต็มที่ก็พาลไม่ได้ไปด้วย ก็ได้แค่ตามสมควรเท่านั้น ดังนั้นว่าถ้าหากว่าเรามีความเชื่อถือที่มั่นคงจริงจังแล้วพระพุทธเจ้าสอนถูกตั้งหน้าตั้งตาทำ เมื่อถึงวาระนั้นอารมณ์ของพระนิพพานจะเข้ามาเต็มในใจของเราเอง แล้วเราจะรู้ว่าสภาพของนิพพานแท้จริงเป็นยังไงไม่ต้องเห็นก็ได้ 
              เพราะฉะนั้นถึงว่าบุคคลที่เป็นสุขวิปัสสโก ทำไมถึงมั่นใจคุณของพระรัตนตรัย ทำไมถึงมั่นใจว่ามีพระนิพพานทั้ง ๆ ที่ท่านไม่เห็น เพราะว่าอารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเต็มในใจของท่านเอง เมือ่เข้าถึงแล้วรับรู้ได้แล้วถึงไม่เห็นก็มั่นใจ 
              เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นเป็นแค่ของแถม ถ้าหากว่าเห็นแล้วใช้ผิดอย่างปัจจุบันนี้ก็ยิ่งน่าเวทนาหนักเข้าไปอีก มโนมยิทธิจริง ๆ แล้วเป็นการตัดกิเลสที่รวบรัดที่สุด เพราะว่ากิเลสโดยเฉพาะรัก โลภ โกรธ หลวงเป็นสมบัติของร่างกาย ถ้าใจไม่อยู่คอยปรุงคอยแต่งแล้วมันไม่สามารถที่จะทำอันตรายเราได้ มโนมยิทธิเป็นการถอดใจออกไป มันโกรธขึ้นมาอาศัยความชำนาญวิ่งไปอยู่บนพระนิพพาน มันเกิดราคะขึ้นมาอาศัยความชำนาญโดดขึ้นไปอยู่บนพระนิพพาน 
              ในเมื่อไม่มีใครมาปรุงมาแต่งมันก็เหมือนกับอาหาร ไม่ได้ใส่เกลือไม่ได้ใส่น้ำตาลไม่ได้ใส่น้ำส้มน้ำปลาอะไร รสชาดมันไม่เอาอ่าว มันจืดชืด ไม่นานมันก็เลิกของมันไปเองพอทำบ่อย ๆ การตัดกิเลสอัตโนมัติโดยเฉพาะไปนิพพานได้ รู้จักพระนิพพานจิตมันเกาะอยู่เป็นประจำ กิเลสมันหมดเข้านิพพานได้ง่าย ๆ แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วไปใช้ผิด ๆ ตรงที่ว่ายังไง...ไประลึกชาติใช่มั้ย ? คนนั้นก็เป็นญาติเรา คนนั้นเป็นพ่อคนโน้นเป็นแม่ ไอ้นั่นผัวไอ้นี่เมีย นั่นลูก ฟื้นความสัมพันธ์ไม่พอ ไปผูกความสัมพันธ์ฟื้นขึ้นมาใหม่อีกรอบหนึ่ง แทนที่จะละก็กลายเป็นยึดก็ติดแหง็กอยู่แค่นั้น 
              ถ้าหากว่าตายในขณะที่จิตใจของตนเองผ่องใส พื้นฐานมโนมยิทธิคือ กำลังจองฌานก็ได้แค่พรหมเท่านั้นใช่มั้ย ? ถ้าตายตอนจิตใจเศร้าหมองไปดูไอ้ชาตินั้นไม่น่าเลย ไปทะเลาะกับเขาอย่างนี้กำลังใจกำลังขุ่นมัวอยู่ก็เป็นอันว่าลงอบายภูมิไป ขาดทุนย่อยยับ เพราะฉะนั้นว่าการรู้นี่ไม่แน่เหมือนกันว่าจะดี ถ้ารู้แล้วขาดสติขาดการไตร่ตรองก็ทำให้เราพลาดจากผลประโยชน์ที่ควรได้ มโนมยิทธิของหลวงพ่อราคาเป็นล้านนะ เราเอามาใช้ไม่ถึงสลึงแล้วยังใช้ผิดอีกต่างหาก จริง ๆ แล้วท่านต้องการให้เราเอากำลังใจเกาะนิพพานเอาไว้ เกาะให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ 
              ถ้าใครที่อยู่รุ่นเก่า ๆ จะจำได้ว่ามีอยู่สมัยนั้นที่หลวงวพ่อกล่าวถึงพระอรหันต์ทั้ง ๗ องค์ที่บรรลุพร้อมกันที่อยู่ทางเหนือ บอกว่ามีอยู่ ๓ องค์ที่ฝึกมโนมยิทธิมา ส่วนอีก ๒ องค์ก็ได้รับเค้าจากอีก ๓ องค์ ของท่านท่านบอกท่านไม่ได้ทำอะไรมากหรอก วัน ๆ หนึ่งก็เอาจิตเกาะนิพพานไว้ เกาะนิพพานอยู่ ๆ กิเลสมันหมดเอง นั่นแหละคือจุดที่หลวงพ่อต้องการมากที่สุด มโนมยิทธิในด้านอื่น ๆ เมื่อเรารู้แล้ว รู้อดีต รู้ปัจจุบัน รู้อนาคต รู้ใจคนอื่น รู้ว่าสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหนตายแล้วไปไหน ระลึกชาติได้ รู้ว่าทำกรรมดี กรรมชั่วแล้วผลจะเป็นอย่างไรเหล่านี้ ท่านให้รู้เพื่อเราจะได้เข็ดจะได้ละ 
              แต่ละชาติที่เราเกิดมาชาติไหนที่มันไม่ทุกข์มั่ง....มีมั้ย ? มันทุกข์ทุกชาติใช่มั้ย ? ชาตินี้เกิดอยู่ก็ทุกข์อีกนะ เพราะฉะนั้นอีดตทุกชาติทุกข์อยู่แล้ว ปัจจุบันนี้เราทุกข์อยู่ อนาคตถ้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก เป็นอันว่า ๓ ข้อเก็บใส่กระเป๋าได้เชื่อมั่นว่าทุกข์แน่ ๆ ไม่ต้องใช้แล้ว รู้ใจคนอื่นประโยชน์มันน้อย มันต้องดูใจตัวเองดูว่าความดีมีมั้ย ? ถ้าไม่มีก็สร้างมันขึ้นมา ถ้ามีอยู่แล้วก็ทำให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป มันมีความชั่วมั้ย ? ถ้ามีไล่มันออกไปแล้วระวังไว้อย่าให้มันเข้ามานะ 
              เจโตปริยญาณ ถ้าดูใจตัวเองลักษณะนั้นก็จะมีประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้าดูผิดมัวแต่ไปดูคนอื่น คนนั้นใจเป็นอย่างนี้คนนี้ใจเป็นอย่างนี้ แทนที่จะดูที่ตัวแก้ที่ตัวก็เสียประโยชน์ไป บุพเพสันนิวาสนุสติญาณ ระลึกชาติได้นั้น มีชาติไหนบ้างที่ไม่ทุกข์บ้างถามหน่อยเถอะ จุตูปปาตญาณ คนเกิดก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน ถ้าเราเชื่อที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เราทำดีเราย่อมไปสู่สุขคติ ถ้าเราทำชั่วก็ลงอบายภูมิ ถ้างั้นก็เก็บเอาไว้อีกอย่างหนึ่งได้แล้ว ไม่ต้องไปฝึกยถากรรมมุตาญาณนี่ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะว่ารู้ว่ากรรมแต่ละอย่างทำให้คนและสัตว์เป็นยังไง เราเชื่อกรรมดีกรรมชั่วก็เก็บใส่กระเป๋าไปเลย 
              ตกลงว่ามโนมยิทธิไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าหากว่าเรามั่นคงในพระรัตนตรัย เชื่อถือพระพุทธเจ้าจริง ๆ แล้วคนที่มียิ่งชัดก็ยิ่งโดนหลอกง่ายใช่มั้ย ? ประสบการณ์โดนหลอกนี่มันเจ็บปวดจริง ๆ เลย ส่วนใหญ่แล้วโดนมาทั้งนั้นนะ โดนแบบไม่รู้ตัวด้วย ในเมื่อตัวเองเห็นก็มักจะไปเถียงคนอื่น ก็ตัวเองเห็นแล้วมันจะผิดได้ยังไง หารู้ไม่ว่าเขาหลอก เราเห็นเขาไล่ยิง ไล่ฟัน ไล่แทงมา ตกอกตกใจวิ่งเข้าไปช่วย ปรากฏว่าเขากำลังถ่ายหนังอยู่ โดนเขาตีกะบาลเอาน่ะซิ เราเห็นจริง ๆ รึเปล่า ? เห็นใช่มั้ย แต่เรื่องนั้นเรื่องจริงรึเปล่า ? ไม่ใช่...เป็นเรื่องที่เขาปรุงแต่งขึ้นมา 
              เพราะฉะนั้นเรื่องของการรู้เห็นด้วยทิพจักขุญาณหรือว่าเห็นด้วยมโนมยิทธิ ยิ่งรู้เห็นชัดเจนการทดสอบยิ่งแรง ถ้าสอบตกก็เจ็บออกหน่อย ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า วิ่งหาอารมณ์พระโสดาบันเอาไว้ ตั้งหน้าตั้งตาทำเพื่อความเป็นพระอริยเจ้าไป มโมยิทธิจัดเป็นอภิญญาใช่มั้ย ? อภิคือ ยิ่งกว่า อัญญา คือ ความรู้ มันไม่มีอะไรรู้ไปยิ่งกว่าการตัดกิเลสหรอก ไม่ได้ยุให้พวกเราเลิกทำนะ ใครทำได้ให้เปลี่ยนไปเกาะพระนิพพานแทน เกาะได้นานเท่าไหร่ดีเท่านั้น 
              ภพอื่นภูมิอื่นเราก็ดูอยู่แล้วรู้อยู่แล้ว ว่ามันไม่มีที่ไหนดีไปกว่านิพพาน เรื่องอื่น ๆ นั่นกองไว้ได้ถ้าตายตอนนั้นแย่เลย มีอยู่วันหนึ่งตอนนั้นหลวงพ่อท่านเทศน์ที่สายลม ท่านบอกว่าคนที่ทรงกรรมฐาน ๔๐ อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ หรือวิชชา ๒ ห่างนรกแค่ขอบนิ้วกั้น กั้นแบบนี้ไม่ใช่กั้นอย่างนี้ แล้วของเราเองแค่มโนมยิทธินี่มันคงจะห่างซักแค่นี้ ....ตายแหง ๆ เลย เพราะฉะนั้นตั้งหน้าตั้งตาคว้าอารมณ์พระอริยเจ้าไว้ก่อน ประกันความเสี่ยงไว้ก่อนปิดอบายภูมิไว้ก่อน อย่างน้อย ๆ ตายก็อย่าให้มันขาดทุน

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ 
เดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ 
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

การเข้าพระนิพพานในวิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด

ทางลัดไปสู่พระนิพพาน?


ถาม : ทางลัดไปสู่พระนิพพาน?
ตอบ: ทางลัดไม่มีจ้ะ การปฏิบัติทุกอย่างทางตรงสั้นที่สุด คือจับอารมณ์พระโสดาบันไปเลย อันดับแรกต้องเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงๆ อันดับที่สอง รักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์ อันดับที่สามตั้งใจเสมอว่าตายแล้วจะไปนิพพานคราวนี้การที่เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งใจว่าตายแล้วจะไปนิพพาน ต้องมีสมาธิควบอยู่ถึงจะทรงตัว ดังนั้น เราจะทิ้งอาณาปานสติ คือการนึกถึงลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ต้องนึกอยู่เสมอเสร็จแล้วก็ทวนศีลอยู่ทุกวัน ศีลทุกข้อของเราวันนี้บริสุทธิ์ไหม ? อันไหนบกพร่องพรุ่งนี้เราต้องแก้ไขให้มันดีกว่าเดิม อันไหนดีอยู่แล้ว พรุ่งนี้เราจะทำให้ดียิ่งกว่านี้ ศีลทุกข้ออย่าละเมิดด้วยตัวเอง อย่ายุให้คนอื่นเขาทำ อย่ายินดีเมื่อคนอื่นเขาทำ ต้องทวนอยู่อย่างนี้ตลอดทุกวัน
ถาม : คำว่า นิพพาน นึกถึงพระพุทธเจ้า ??
ตอบ: เอาแค่นั้นล่ะจ้ะ ตั้งใจว่านั่นคือพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ ไหน นอกจากบนพระนิพพาน เราเห็นท่านคืออยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนนิพพาน เอาแค่นั้นพอ คิดว่าเราตาย เราก็ขอไปอยู่กับท่านตรงนั้น ถึงไม่เห็นเลยก็ไม่ เป็นไร ให้มั่นใจว่านิพพานอยู่ที่ไหน เราจะไปที่นั่นก็ใช้ได้เหมือนกัน เพราะ ฉะนั้นการปฏิบัติทางลัดไม่มีนะจ๊ะ มีแต่ทางตรง ซึ่งสั้นที่สุด ลองไปลัดดูสิ ทางลัดทางไหนก็ตามมันอ้อมทั้งนั้นแหละ

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เดือนมกราคม ๒๕๔๗ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ


การเข้าพระนิพพานในวิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด


โดย…หลวงพ่อพระราชพรหมยาน


สำหรับการที่จะเข้าพระนิพพานนั้น จิตจะต้องถูกฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี ซึ่งก็แยกย่อยออกไปได้หลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด คือ
1ไม่สงสัย เชื่อมั่น และเคารพพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด (สุดจิตสุดใจ) ตลอดชีวิต ซึ่งความเชื่อนี้ รวมไปถึงพระธรรมคำสอนในข้อที่ว่า…
นิพพานัง ปรมัง สุขัง  *พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง*

นิพพานัง ปรมัง สูญญัง *พระนิพพานเป็นที่ที่สูญจากกิเลส จากอวิชชาทั้งมวล*
จากพระธรรมทั้ง ๒ ประโยคนี้ ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า พระนิพพานเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านประทับอยู่จริง เมื่อเราเชื่อมั่นอย่างสุดจิตสุดใจ ว่า พระนิพพานมีจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระองค์อยู่จริง การที่เราจะได้มโนมยิทธิหรือไม่ นั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ความเชื่อมั่น เชื่อมั่นว่าพระนิพพานมีอยู่จริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีอยู่ จริง พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ประทับอยู่บนพระนิพพานจริง เมื่อเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้แล้ว ให้ลงมือปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ที่พระองค์ท่านทรงชี้แนะเอาไว้ สิ่งนั้นคือ ขั้นตอนต่างๆ ที่ลัดที่สุด เร็วที่สุด ตัดตรงที่สุด ซึ่งมีดังนี้

2. มีศีล 5 (เป็นอย่างน้อย)

3. ทุกครั้งที่ทำความดี (ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด หรือยิ่งใหญ่เพียงไหนก็ตาม)
ให้อธิษฐานขอไปพระนิพพาน ว่า...ด้วยกุศลผลบุญนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเถิด ภพภูมิอื่นใด ไม่ว่าจะเป็น อบายภูมิ โลกมนุษย์ สวรรค์ พรหม หรืออรูปพรหมก็ตาม ข้าพเจ้าไม่ปรารถนา…ข้าพเจ้าปรารถนาเพียงพระนิพพานเป็นที่สุด..ตายเมื่อ ไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น..

4. พิจารณานึกถึงความตายอยู่เสมอ
พร้อมกับพิจารณาให้เห็นว่าสังขารร่างกายนี้ไม่ใช่ เรา ไม่ใช่ของๆ เรา เราไม่มีในสังขาร ร่างกายนี้ สังขารร่างกายนี้ไม่มีในเรา นึกน้อมพิจารณาจนจิตยอมรับสภาพตามความเป็นจริง และมีการปล่อยวางในสังขารร่างกายนี้

5. พิจารณาตัดขันธ์ 5 และพิจารณาถึงความทุกข์ ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ
เมื่อทุกข์ขนาดนี้แล้ว มีแต่โรคภัยไข้เจ็บแบบนี้ ต้องกระทบกระทั่งกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจทั้งหลาย ต้องพลัดพรากจากคนที่ เรารักและคนที่รักเรา สิ่งเหล่านี้มันทุกข์ใช่ไหม เมื่อทุกข์ขนาดนี้แล้วเรายังอยากที่จะเวียนว่ายตายเกิดอีกหรือไม่

6. เมื่อพบความจริงของชีวิตแล้ว… ต่อมาให้จิตเชื่อมั่น และจับภาพพระพุทธเจ้า หรือ ภาพพระพุทธรูปที่เรารักชอบ

ที่พระนิพพานซึ่งเป็นที่ประทับแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระ ภาคเจ้าเป็นที่สุด (ไม่ว่าเราจะได้ มโนมยิทธิหรือไม่ก็ตาม) หมั่นทำความดี ละเว้นความชั่ว และอธิษฐานให้บ่อยๆ ทำจนจิตชิน จนเขาภาวนาของเขาเองได้ยิ่งดี ว่า… 


สังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์ เป็นรังของโรค มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเบื่อหน่าย ถ้าข้าพเจ้าตายลงเมื่อไหร่ ขอให้ดวงจิต ของข้าพเจ้าพุ่งตรงสู่พระนิพพานเป็นที่สุดด้วยเถิด และขอให้ข้าพเจ้าได้พบองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบนพระนิพพานนั้นโดยทันทีด้วยเถิด

ข้อสำคัญของการเข้าพระนิพพาน คือ จิตจะต้องเกิดอาการเบื่อหน่ายในร่างกาย (ขันธ์5) อย่าง จริงๆ จัง…

ดังนั้นต้องมีการพิจารณาตัดขันธ์ 5 พิจารณาถึงความตาย ความทุกข์ทั้งหลาย อยู่เสมอๆ พิจารณาบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้งได้ก็จะดีมาก แต่เมื่อพิจารณามากเข้าๆ จิตอาจจะเบื่อจนนึกอยากจะฆ่าตัวตาย
ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาสมทบเข้าไปว่า…

ถึงสังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่าย แต่ข้าพเจ้าจะยังคงรักษาธาตุขันธ์นี้ต่อไป เพื่อยังประโยชน์ต่อสรรพชีวิตอื่น และธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ตราบจนกว่าจะถึงอายุขัยของข้าพเจ้าเอง 
เสร็จแล้ว พยายามพิจารณาทุกสิ่งให้เป็น “ธรรมดา” ยอมรับสภาพของชีวิตตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมื่อใกล้ตายจิตจะมารวมตัวกันเองโดยไม่ต้องบังคับ เพราะจิตมีความชินกับการที่ จิตเราจับอยู่ที่พระพุทธองค์ และพระนิพพานเสมอ


ให้เชื่อมั่นว่า…ตายเมื่อไหร่เราขึ้นพระนิพพานแน่นอน…



******************************************

เรื่อง วิธีทำให้ถึงอรหันต์ สั้นที่สุด ง่ายที่สุด

...เวลานั้นองค์สมเด็จพระทศพลเสด็จมาพอดี ทรงประทับยืนอยู่เหนือศรีษะด้านหน้า มีแสงสว่างมากแล้วท่านตรัส ท่านบอกว่า

"คุณ คนที่ปฏิบัติอยู่แล้วทั้งหมดนี้กำลังใหญ่ คือเข้าถึงนิพพานทุกคน แต่ทว่าเพื่อความไม่ประมาทให้เขาทำอย่างนี้

วันหนึ่งจะใช้เวลาไหนก็ได้ เวลาที่ใจสบาย ถ้าเวลาอื่นมันติดงานมากก็เอาเวลานอน
นอนก่อนจะหลับหรือว่าตื่นใหม่ๆ ใจสบาย เอาจิตใจจับนึกถึงท่าน (พระพุทธเจ้า) ถ้าบุคคลใดไม่ได้ทิพจักขุญานก็นึกภาพเอาเอง กำหนดภาพพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ให้เป็นประกาย

บังคับจิต ถ้าเห็นเป็นสีเหลืองก็บังคับให้เป็นสีแก้วให้ได้

ทำอยู่อย่างนี้ไม่กี่วันหรอกก็เป็น ให้จิตมันเป็นฌาน ถ้านึกถึงเมื่อไรก็เห็นพระพุทธเจ้าเป็นสีแก้วเป็นประกายทุกวัน"


องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ท่านบอกว่าถ้าเขาทำอย่างนี้นะ ได้ทุกวันอย่าได้ขาด วันหนึ่งใช้เวลา 2-3 นาทีก็ไม่เป็นไร ฉันไม่จำกัดเวลาว่าจะใช้เวลานานหรือเวลาเร็ว

ถ้าเขาทำอย่างนี้ได้ทุกวันแล้วก็ทรงอารมณ์ตามที่บอกไว้คือ
1) นึกถึงความตายไว้ อย่าประมาทในชีวิต
2) เคารพในพระรัตนตรัย
3) ทรงศีล 5 บริสุทธิ์
4) จิตหวังพระนิพพานอย่างเดียว

ท่านบอกว่าเป็นอย่างนี้ละก็ ถ้าก่อนอายุขัยของเขา 7 วัน ท่านกำหนดให้เลยนะ ว่าก่อนอายุขัยอีก 7 วันต้องตายแน่อยู่ไม่ได้ ตอนนั้นกระแสจิตของเขาจะเห็นภาพในอากาศเต็มจักรวาล ทั้งพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี แพรวพราวไปหมด และก็หลังจากนั้นไปเมื่อกำลังใจของตนจะพ้นกำหนดในการทรงสังขาร
*สมเด็จพระพิชิตมารบอกว่าจะเข้าถึงอรหัตผลทันที*



คำสอน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
จากหนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง 39

วิธีการทรงอารมณ์จิตให้เป็นฌาน




วิธีการทรงอารมณ์จิตให้เป็นฌาน

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง)
(เทศน์สอนพระเมื่อปี 2521)

..ต่อนี้ไปถ้าจิตใจของเราจะทรงความดีเราจะทำยังไง เลี้ยวเข้ามาหากรรมฐานที่เราเรียนกันแล้วเรียนกันอีก ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ก็เพราะว่ามีสันดานไม่จำ เป็นความเลวของสันดาน นั่นก็คือบทต้นที่สุดที่เราสอนกันว่า
             จงทรงอารมณ์อยู่ใน อาณาปานุสสติกรรมฐาน พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าใช้คำภาวนาก็ใช้คำว่า พุทโธ ทรงอารมณ์ไว้เพียงเท่านี้
             ถ้าเป็นพระเก่ามีกำลังใจดี ถ้ามีความเข้มแข็งก็จะสามารถได้ ทิพจักขุญาณ ถ้าหากว่าวิสัยทิพจักขุญาณไม่มี ถ้าเราทรงอารมณ์อยู่อย่างนี้เป็นปกติ เพียงแค่อย่างเลวเดือนเดียว อย่างเลวที่สุด 3 เดือน จิตเราก็ทรงก็ทรงฌาน
             คนที่มีจิตทรงฌานเขามีอารมณ์สงบ             
             ไม่มีความฟุ้งซ่าน             
             ไม่มีความทะเยอทะยาน             
             ไม่มีความรักในระหว่างเพศ             
             ไม่มีความโลภในทรัพย์สิน             
             ไม่มีการอิจฉาริษยา             
             ไม่ระแวงบุคคลอื่นใดว่าจะเป็นศัตรูกับเรา             
             ไม่มีความมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข             
              นี่จิตเพียงเท่านี้ ขอท่านจงพยายามทำให้ได้ มันก็ไม่ยากนัก          
             ดูตัวอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความจริงพวกเรานี่ น่าจะให้พระเจ้าอยู่หัวท่านมาเอาอย่างเรา
             แต่ว่าขอเตือนว่า ขอให้ทุกท่านจงเอาอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว             ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชภารกิจมากยากต่อการปฏิบัติ ให้มีการทรงตัวในด้านสมาธิ แต่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสมาธิได้ดี สามารถเข้าฌานออกฌานได้ทุกอย่าง
             ครั้งที่แล้วพระองค์ทรงให้ผมบันทึกเสียงถวายไป ผมนั่งอยู่ชายทะเล ผมก็ใช้คลื่นทะเลเป็นกรรมฐาน
             เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับฟังแล้ว เมื่อ 14 เมษายน พึ่งได้มีการเข้าเฝ้า พระองค์ตรัสว่า
             "ผมชอบเหลือเกิน เพราะว่าคลื่นทะเลนี่ ผมใช้เป็นกรรมฐานมาตลอดเวลา ที่รู้จักคลื่นทะเลเป็นกรรมฐาน ก็เพราะว่าเล่นเรือใบ"
             นี่เป็นจุดหนึ่งที่ความเข้าถึงความดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
             แต่นี่ก็จะขอพูดให้ฟัง เวลาเหลืออีก 5 นาที ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญสมาธิ จิตมีอารมณ์ทรงได้ดี ท่านทำยังไง ท่านทำแบบนี้ เวลาที่ท่านจะภาวนาท่านก็เอาจริงเอาจัง เอาจิตทรงตัว และเวลาจิตฟุ้งซ่าน ท่านก็ดูพระพุทธรูป ลืมตาดู คิดว่าพระพุทธรูปนี่เขาทำด้วยอะไร สีอะไร เอาใจไปอยู่ที่พระพุทธรูปเป็น พุทธานุสสติ
             นี่พูดตอนนี้เพราะว่า พระองค์ตรัสกับ พระเทพรัตนราชสุดา เมื่อปีที่แล้ว ผมกำลังเฝ้าท่านอยู่ ตรัสตามนี้             
และประการที่ 2 พระองค์ตรัสว่า เวลาที่ผมเดินเล่น ถ้าผมต้องการเดิน 1 ชั่วโมงนี่ ผมสะพายเทปเดินไปด้วย ผมก็เดินแล้วผมก็ตั้งใจฟังเสียงจากเทป เอาจิตจับเฉพาะเสียงเทป เสียงอื่นผมไม่สนใจ ต้องการเดิน 1 ชั่วโมง ก็ฟังสองหน้า ต้องการเดิน 2 ชั่วโมง ก็ฟังสี่หน้า จิตจับอยู่เฉพาะในเทป เมื่อยามว่างจากกิจการงานอื่น ก็เปิดเทปในห้อง ฟังเสียงเทปแล้วก็คิดตาม เวลาที่จะทรงบรรทมก็จะฟังเทปจนหลับไป แต่บางครั้งฟังแล้วบังคับไม่ให้หลับมันก็ไม่หลับ บางทีฟังแล้วต้องการให้หลับฟังยังไม่ถึงเทปมันก็หลับ
             แสดงว่าพระองค์ทรงควบคุมกำลังใจได้ดี จริยาแบบนี้ ผมขอแนะนำให้ท่านทั้งหลาย จะเป็นพระใหม่หรือพระเก่าก็ตาม คนใหม่หรือคนเก่าก็ตาม จงสนใจและปฏิบัติเยี่ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

             ยามว่างต้องการสงัด จับอารมณ์หายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออก โธ เพียงเท่านี้ แต่ถ้าหากถ้าจิตจับทรงสมาธิไม่อยู่ ก็ฟังเสียงเทป ชอบเทปอะไรก็ฟังอย่างนั้น ฟังมาฟังไป ฟังซ้ำ ๆ ให้ขึ้นใจ หรือใช้ปัญญาพิจารณาตามไปด้วย อย่างนี้จะช่วยให้เราอยู่ในขอบเขตพระวินัย อยู่ในขอบเขตของระเบียบ มีจิตทรงอารมณ์ของกุศลอยู่ตลอดเวลา
             ถ้าอารมณ์จิตทรงกุศลอยู่ตลอดเวลาก็ชื่อว่าเราเป็นคนดี เราเป็นเณรดี เราเป็นพระดี ความจุ้นจ้านไปห้องคนอื่นมันก็ไม่มี ความอยากดี อยากเด่น อยากประเสริฐมันก็ไม่มี ถ้าหากว่าจิตของเราทำได้อย่างนี้
             จงจำไว้ว่า ตานี้เราจะลองฟังดู เวลาเรานอนไปเทปหนึ่งหน้าเราไม่ยอมให้หลับเราก็ไม่หลับ จิตจับอยู่เฉพาะที่เสียง เวลาฟังเสียงเทป จงเอาจิตจับที่เสียงทุกคำพูด อย่าให้ทุกคำพูดในเสียงนั้นคลาดจากหู หรือความรู้จากจิต จิตจับไว้เสมอ
             ต่อมาเมื่อเสียงนั้นชินฟังจนจำได้ ฟังหลาย ๆ หนก็ใช้ปัญญาพิจารณาตามไปในด้านของวิปัสสนาญาณ เพียงเท่านี้แหละ บรรดาท่านพระโยคาวจรทุกท่าน อารมณ์ของท่านจะทรงตัวได้ดีภายใน 1 เดือน

             หลังจากนั้น อารมณ์ฌานจะปรากฏประกอบไปด้วยปัญญา และความชั่วของท่านมันก็จะไม่มี ที่เรายังมีความชั่วติดอยู่ในใจ ทั้งนี้ไม่ใช่อะไร เพราะว่าสันดานเรามันเลว ฟังแล้วได้ยินก็ฟังเหมือนไม่ได้ยิน เห็นแล้วทำเหมือนไม่เห็น ไม่รู้จักดูสภาวะของตัว ว่าตัวมีสภาพเช่นไร
             เอาล่ะ วันนี้ก็ขอยุติลงไว้แต่เพียงเท่านี้
             ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพระโยคาวจรทุกท่าน จงพากันตั้งกายให้ตรง ดำรงติดให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก สำหรับพระใหม่ เวลาหายใจเข้าให้นึกว่า พุธ แล้วหายใจออกให้นึกว่า โธ จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านจะเห็นว่าสมควรจะเลิก