หน้าเว็บ

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สัมมาทิฎฐิ VS มิจฉาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ

คำว่า สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)  เป็นคำที่ตรงข้ามกับ มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) จึงเป็นธรรมะที่ต้องศึกษาคู่กัน คือ ถ้าเราละความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เราก็จะเป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐินั่นเอง แต่คำถามคือ สัมมาทิฏฐิคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ... เป็นหน้าที่หลักในชีวิตของทุกคนที่ต้องแสวงหาคำตอบให้กับตัวเอง เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ไม่สามารถยกเป็นมรดกตกทอดให้กันได้ หากจะกล่าวกันตามตรง เราทุกคนที่เกิดมาล้วนแต่เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิด้วยกันทั้งนั้น เรียกว่าโง่ด้วยกันทั้งนั้น จะโง่มากโง่น้อยก็แล้วแต่คน แต่สรุปว่า ยังไงก็โง่ เพราะถ้าฉลาดคงไม่มาเวียนตายเวียนเกิดจนถึงทุกวันนี้หรอก...^^

ขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนก็ไม่กล้าบังอาจคิดว่าตัวเองเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิแต่อย่างใด ทุกวันนี้ก็ยังโง่อยู่มาก เรื่องที่นำมาเขียนทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ใช้ปัญญาอันมีอยู่น้อยนิดพยายามรวบรวมพระธรรมคำสอนของพุทธองค์มาเล่าสู่กันฟังครับ..ผิดถูกประการใดท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณกันเอาเองนะครับ..

ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นธรรมหมวดแรกในอริยมรรค ซึ่งมีองค์ 8 อันประกอบไปด้วย  สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ, สัมมาวาจา การพูดจาชอบ, สัมมากัมมันโต การทำการงานชอบ, สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ, สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ, สัมมาสติ ความระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ หรือสรุปย่อเป็น ไตรสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้นนั่นเอง 
ซึ่งในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ในตอนก่อนจะปรินิพพานแก่ท่าน สุภัททปริพาชก ที่มาขอเข้าเฝ้าเพราะต้องการจะทราบว่า ในบรรดาเจ้าลัทธิทั้ง 6 ในยุคนั้นที่อ้างตัวว่าเป็นพระอรหันต์ มีใครที่เป็นพระอรหันต์จริงบ้าง พระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนเรื่อง อริยมรรค 8 และทรงสรุปในตอนท้ายว่า ศาสนาใดที่ประกอบไปด้วยอริมรรคมีองค์ 8 ศาสนานั้นย่อมมีพระอรหันต์ ซึ่งก็มีแต่เฉพาะศาสนาของพระองค์เท่านั้น และตราบใดที่ภิกษุเจริญใน อริยมรรค 8 นี้ โลกนี้ย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์... หลังจากได้ฟังธรรม ท่าน สุภัททปริพาชก ซึ่งเป็นนักบวชนอกศาสนา ได้เกิดมีสัมมาทิฏฐิ จึงได้ทูลขอบวช หลังจากพระอานนท์บวชให้ ท่านจึงได้เลี่ยงออกไปเจริญสมณธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง..

จะเห็นว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งแรกที่พึงมี เพราะเมื่อเราเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นแล้ว ย่อมสนใจใคร่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ไม่หลงทางและพัฒนาตัวเองให้มีสัมมาทิฏฐิยิ่งๆ ขึ้น จนเกิดปัญญารู้แจ้งหลุดพ้นได้ในที่สุด ในทางตรงกันข้ามหากบุคคลใดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ผลลัพธ์จะเป็นอีกทางคือ จมอยู่กับความทุกข์แห่งสังสารวัฏไม่รู้จบ โดยเฉพาะมิจฉาทิฏฐิร้ายแรงที่ควรหลีกเลี่ยง 3 อย่าง ที่เรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ 

นิยตมิจฉาทิฏฐิ 3
นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓  คือ ความเห็นผิดที่ดิ่งแก้ไขไม่ได้ ได้แก่
๑. อกิริยทิฏฐิ  เห็นว่า ไม่เป็นอันทำ ปฏิเสธการกระทำดี  ทำชั่ว และปฏิเสธผลว่าไม่มี

๒. อเหตุกทิฏฐิ  เห็นว่า ทุกสิ่งไม่มีเหตุ  ไม่มีปัจจัย  เป็นไปเอง

๓. นัตถิกทิฏฐิ  เห็นว่า  ไม่มีบุญ  ไม่มีบาป  ปฏิเสธทั้งเหตุและผล

ทั้ง ๓ ต่างกันเพียงชื่อ  โดยอรรถเหมือนกัน 

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 389
           บรรดาครูทั้ง ๖ นั้น      ปูรณะชี้แจงว่า         เมื่อทำบาปก็ไม่เป็นอันทำ

ชื่อว่า  ย่อมปฏิเสธกรรม.

           อชิตะชี้แจงว่า เพราะกายแตกสัตว์ย่อมขาดสูญ  ชื่อว่า  ปฏิเสธวิบาก.

           มักขลิชี้แจงว่า  ไม่มีเหตุ   ชื่อว่า ปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากทั้ง ๒.

           ในข้อนั้น   แม้เมื่อปฏิเสธกรรม   ก็ชื่อว่าปฏิเสธวิบากด้วย.       แม้เมื่อ

ปฏิเสธวิบาก  ก็ชื่อว่าปฏิเสธกรรมด้วย.     ดังนั้นเจ้าลัทธิแม้ทั้งหมดนั้น    ว่า

โดยอรรถ      ก็คือปฏิเสธทั้งกรรมและวิบากของกรรมทั้ง   ๒           ย่อมเป็น

อเหตุกวาทะด้วย  เป็นอกิริยวาทะด้วย  เป็นนัตถิกวาทะด้วย.

กล่าวโดยสรุป นิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ผู้ที่มีเห็นผิดรุนแรง คือเชื่อปักใจว่า ตายแล้วสูญ คนพวกนี้ย่อมไม่เชื่อว่า บาปบุญมีจริง เขาย่อมไม่เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  นั่นคือ ไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธองค์ในเรื่อง กฏแห่งกรรม นั่นเอง

โทษของนิยตมิจฉาทิฏฐิ รุนแรงกว่า อนันตริยกรรม !!!

อนันตริยกรรม คือ ครุกรรมฝ่ายบาป ที่หากใครได้กระทำลงไปแล้ว จะเป็นการปิดมรรคผล หมดโอกาสที่จะบรรลุธรรมได้ในชาตินั้น แม้แต่พระอริยบุคคลขั้นต้นคือ พระโสดาบันก็ไม่สามารถจะเป็นได้ และต้องไปรับผลกรรมในนรกอย่างเดียวเท่านั้น ถือว่าเป็นกรรมที่รุนแรงอย่างมาก ต่อให้เลวแค่ไหนก็อย่าไปเผลอทำเป็นอันขาด อนันตริยกรรม ประกอบด้วย
๑. ปิตุฆาต     ฆ่าบิดา
๒. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต
๕. สังฆเภท ทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยกไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันพอสมควรครับ เกี่ยวกับการที่เชื่อว่าตายแล้วสูญกับการกระทำกรรมหนักที่เรียกว่า อนันตริยกรรม นั้นอย่างไหนรุนแรงกว่ากัน สำหรับคำตอบของเรื่องนี้
ผมมีแหล่งอ้างอิงที่พอค้นหาได้ดังนี้ครับ

บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๗.๑ กฎแห่งกรรม หน้า 23 นะครับ

พระพุทธองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อพระเทวทัต คัดมาจากมิลินทปัญหา ตอนที่ 14 นะครับ

แผนภูมิ 31 ภพภูมิ  ดูในส่วนของอเวจีมหานรก นะครับ

ผมอ่านแล้วได้ข้อสรุปดังนี้ครับ

-ที่บอกว่า การเป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดรุนแรง หรือที่เรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ มีโทษมากกว่า อนันตริยกรรม เข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงลงนรกขุมลึกกว่า เพราะตายไปต้องไปอยู่อเวจีมหานรกเหมือนกัน (ยกเว้นว่า เพราะความมิจฉาทิฏฐิรุนแรงนั้นจึงไปทำกรรมชั่วรุนแรงระดับที่ต้องไปเกิดในโลกันตนรก เช่น ทารุณกรรมพ่อแม่เป็นอาจิณกรรม เป็นต้น) แต่ที่รุนแรงกว่าอนันตริยกรรม คือ อนันตริยกรรม ยังมีจุดสิ้นสุดของการรับกรรม เช่น พระเทวทัต โทษของท่านคือ 1 กัป แต่ถ้าเป็น นิยตมิจฉาทิฏฐิ นี่ ไม่รู้จุดสิ้นสุด อาจเป็นหลายแสนกัป (อันนี้ท่านนับรวมการเกิดเป็น เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ด้วยนะครับ) ด้วยเหตุนี้แม้พระพุทธองค์จะทรงทราบด้วยพระญาณล่วงหน้าว่าพระเทวทัตเมื่อบวชเข้ามาแล้วจะทำกรรมหนักคือ อนันตริยกรรม ถึงสองข้อคือ ทำสังฆเภท (ซึ่งรุนแรงที่สุดในอนันตริยกรรม) และทำร้ายพระพุทธองค์จนห้อพระโลหิต แต่ด้วยเพราะทรงทราบว่า หากไม่บวช พระเทวทัตจะเป็นมิจฉาทิฏฐิบุคคล ซึ่งมีโทษยาวนานกว่า จึงทรงมีพุทธานุญาตให้บวชนั่นเอง...

และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่องราวของพระเจ้าอชาตศรัตรู ที่หลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัตให้ฆ่าพระราชบิดาคือ พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งถือว่าได้ทำอนันตริยกรรม คือ ปิตุฆาต ตามหลักจะต้องลงอเวจีมหานรก แต่เพราะพระองค์ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์และเกิดสัมมาทิฏฐิ ขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ แต่ไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม(เป็นพระโสดาบัน) เพราะถูกกรรม คือ การทำอนันตริยกรรมเป็นเครื่องห้ามไว้ แต่พระองค์ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี รวมทั้งทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 1 ด้วย ด้วยผลบุญเหล่านี้ทำให้พระองค์ไม่ต้องลงอเวจีมหานรก แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ก็เพียงได้รับโทษในโลหกุมภีนรก ซึ่งเป็นนรกขุมที่ตื้นที่สุดแล้ว และต้องเสวยทุกขเวทนาเป็นเวลา 60,000 ปีนรก เมื่อชดใช้กรรมหมดแล้ว พระองค์ก็จะไปบังเกิดเป็นพระปักเจกพระพุทธเจ้าอีกองค์ มีนามว่า ชีวิตวิเสส ในอนาคตเช่นเดียวกับพระเทวทัต (ที่ก่อนตายท่านได้น้อมจิตถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชาขณะธรณีสูบ ทำให้เมื่อหมดกรรมแล้วท่านจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อัฏฐิสระ)

******************************************
สัมมาทิฏฐิ 10 

ในเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 10 หรือ วิธีการทำบุญในพระพุทธศาสนา 10 วิธี หนึ่งในนั้นคือ การทำตัวเราเองให้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ดังรายละเอียดดังนี้ครับ..

ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทิฏฐิ คือการกระทำความเห็นให้ถูกตรงนั้น ได้แก่ตรงต่อความจริง ตรงต่อคำสอน ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ตรงตามความเห็นของเราหรือผู้อื่น ซึ่งยังหนาแน่นอยู่ด้วยกิเลส ทิฏฐุชุกรรมหรือ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบนี้เป็นอย่างเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๑๐ อย่าง คือ

๑. เห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล คือต้องเชื่อว่า ให้ทานแล้ว ต้องได้รับผล คือเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์ สมบัติมาก เป็นต้น 
๒. เห็นว่า การบูชามีผล การบูชาในที่นี้หมายถึง ผู้ที่ควรบูชา มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวก พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูอาจารย์ ฯลฯ 
๓. เห็นว่า การบวงสรวงมีผล คือการนำของไปบูชาผู้มีคุณ ย่อมมีผล
๔. เห็นว่า การทำดีทำชั่วมีผล คือทำดีก็ได้ผลดีทำชั่วก็ได้ผลชั่ว 
๕. เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ หมายความว่า เชื่อว่าผู้ที่ตายจากโลกอื่น มาเกิดในโลกนี้มีอยู่ 
๖. เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่ หมายความว่า เชื่อว่าผู้ที่ตายจากโลกนี้แล้วไปเกิดในอีกโลกอื่นมีอยู่ 
๗. เห็นว่า มารดามีอยู่ คือเห็นว่าคุณของมารดามีอยู่ การทำดีทำชั่วต่อมารดาย่อมมีผล 
๘. เห็นว่า บิดามีอยู่ คือเห็นว่าคุณของบิดามีอยู่ การทำดีทำชั่วต่อบิดาย่อมมีผล 
๙. เห็นว่า โอปปาติกสัตว์ คือสัตว์ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีบิดามารดา เกิดแล้วโตเต็มที่ทันที ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม มีอยู่ 
๑๐. เห็นว่า สมณะพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบประกอบด้วยความรู้ยิ่ง เห็นแจ้งประจักษ์ซึ่งโลกนี้และ โลกหน้าด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้นั้นมีอยู่ คือเห็นว่าผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่นั่นเอง 


ทิฏฐุชุกรรม คือการกระทำความเห็นให้ตรงต่อความจริง ๑๐ ประการนี้ จัดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นหัวหน้าของบุญทั้งมวล ถ้าบุคคลใดมีความเห็นถูกต้อง ตรงต่อความจริงเหล่านี้แล้ว ย่อมคิด จะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาและคิดจะทำบุญทุกชนิด เพื่อเป็นบันไดก้าวไปสู่ความสุขความเจริญ ในท้ายที่สุดยังเป็นบันไดให้ก้าวไปสู่การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อบรรลุอริยสัจจธรรมได้อีกด้วย

โดยนัยตรงข้าม ผู้ใดเห็นตรงกันข้ามกับความจริง ๑๐ ประการนี้ ผู้นั้นจะไม่ทำบุญเลย ดังที่มี คนเป็นอันมากในปัจจุบันนี้เชื่อมั่นว่า คนเราเกิดหนเดียวตายหนเดียว ชาติก่อนก็ไม่มี ชาติหน้าก็ไม่มี ตายแล้วก็สูญไม่เกิดอีก ทั้งๆ ที่ผู้นั้นยังมีความต้องการสารพัด ผู้ที่จะไม่เกิดอีกนั้น คือผู้ที่ดับความต้องการ ทั้งปวงได้สนิทแล้วเท่านั้น เมื่อเชื่อเช่นนี้เขาจึงไม่ทำบุญ นับว่าเป็นภัยแก่เขาเองอย่างใหญ่หลวง เพราะ ความเห็นผิดเช่นนี้จัดเป็นบาปหนัก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหมือนมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดทั้งนี้เลย"

***************************

สัมมาทิฏฐิ ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ของ ท่าน ป.อ.ปยุตโต


สัมมาทิฏฐิ หมายถึง เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔ หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือ เห็นปฏิจจสมุปบาท  เป็นธรรมข้อแรกของมรรคมีองค์ ๘ 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มีดังนี้

ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ๒ (ทางเกิดแห่งแนวคิดที่ถูกต้อง, ต้นทางของความดีงามทั้งปวง : sources or conditions for the arising of right view) 

๑. ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร : another’ s utterance; inducement by others; hearing or learning from others)

๒. โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย : reasoned attention; systematic attention; genetical reflection; analytical reflection)

ข้อธรรม ๒ อย่างนี้ ได้แก่ ธรรมหมวดที่ (๑) และ (๒) นั่นเอง แปลอย่างปัจจุบันว่า “องค์ประกอบของการศึกษา” หรือ “บุพภาคของการศึกษา” โดยเฉพาะข้อที่ ๑ ในที่นี้ใช้คำกว้าง ๆ แต่ธรรมที่ต้องการเน้น ก็คือ กัลยาณมิตตตา 

ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ก็มี ๒ อย่าง คือ ปรโตโฆสะ และ อโยนิโสมนสิการ ซึ่งตรงข้ามกับที่กล่าวมานี้. 

****************************************
จะเห็นว่า วิธีที่จะทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นกับเราได้ มี 2 วิธีด้วยกันนะครับ คือ อาศัยกัลยาณมิตรที่ดีที่เป็นสัมมาทิฏฐิ อันได้แก่ ญาติธรรม ครูบาอาจารย์ หนังสือ รวมทั้งที่เราๆ กำลังศึกษาธรรมในเวบไซต์ต่างๆ กันอยู่นี้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะต้องระวังข้อมูลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ และวิธีที่ 2 ที่สำคัญมากๆ คือ โยนิโสมนสิการ หรือ การน้อมมาสู่ใจนั่นเอง..


link สำหรับอ่านเพิ่มเติม

>>>สัมมาทิฏฐิ สอนโดยสมเด็จพระสังฆราช

>>>>สัมมาทิฏฐิสูตร